ดวงประเทียบ

 

ดวงประเทียบ พระนางเชงสอบู ผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา
21 ส.ค. 2559

 

เมื่อเอ่ยนาม "พระนางเชงสอบู" ทั่วไปไม่รู้จัก รู้จักแต่อองซานซูจี ในแถบเอเซียนี้ มีกษัตรีย์ที่มีอำนาจและมีคุณูปการต่อประเทศชาติ เห็นจะมีบูเช็คเทียนประเทศจีน พระนางจามเทวีแห่งล้านนา และพระนางเชงสอบูแห่งหงสาวดีนี่แหละ เราก็ควรมาดูประวัติของท่านบ้าง
 
ใครที่เคยไปสักการะเจดีย์ชเวดากอง จะเห็นมุมหนึ่งนะคะ ที่เป็นมุมของสุภาพสตรีทั้งหลายไปกราบไหว้สักการะบูชา เคยสงสัยไหมว่า มหาเจดีย์ชเวดากองซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนพม่ามาช้านานนับเป็นพันปี จึงมีสถานที่ของมหากษัตรีย์คนหนึ่ง อย่างน้อยเราก็ได้รับคำบอกเล่าว่า พระนางเชงสอบูได้ถวายทองคำน้ำหนักสี่สิบชั่งประดิษฐาน ณ ยอดเจดีย์ชเวดากอง
 
พระนางเชงสอบู หรือ พระนางพระยาท้าว ตละเจ้าปุ พระนางพญาท้าว ตละเจ้าท้าว และนางพระยาตละเจ้าเท้า เป็นกษัตริย์หญิงแห่งอาณาจักรมอญเพียงพระองค์เดียว ที่ปกครองชาวมอญเป็นเวลา ๗ ปี (พ.ศ. ๑๙๙๖ - ๒๐๐๓) และถือเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์ฟ้ารั่วองค์สุดท้ายที่ปกครองอาณาจักรมอญ พระนางได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๘ นับแต่พระเจ้าฟ้ารั่ว พระนางเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าราชาธิราช หลังจากพระเจ้าราชาธิราชเสด็จสวรรคต ได้มีกษัตริย์สืบต่อมาอีกหลายพระองค์ จนสิ้นรัชทายาทที่เป็นบุรุษ จึงได้ยกพระนางขึ้นปกครองแทน
 
พระเจ้าราชาธิราชที่เราเคยอ่านตอนสมิงพระรามรบกับแม่ทัพจีนกำมานีไงล่ะ รายละเอียดถึงจะฉงนยังไงก็ยังเล่าไม่ได้ เพราะยาวมาก เอาเป็นว่าพระเจ้าราชาธิราชองค์นี้ เป็นองค์เดียวกับพระยาน้อยกับเม้ยมะนิก ที่เอ่ยถึงไปแล้วในตอนดวงประเทียบของเม้ยมะนิก
 
และเมื่อพระนางได้ครองราชสมบัติแห่งอาณาจักรมอญ มีเหตุมาจากเมื่อสมเด็จพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ พระโอรสองค์ใหญ่ไม่ได้ราชสมบัติ ผู้ที่ได้สืบทอดราชสมบัติเป็นพระโอรสองค์ที่สองที่ได้พระนามว่าพระธรรมราชา ครองกรุงหงสาวดี พระยาแคงพระโอรสองค์ที่สามไม่พอใจจึงไปสวามิภักดิ์กับพม่า พระธรรมราชาไม่ปรารถนาที่จะรบพุ่งกับพม่า พระองค์จึงได้ประนีประนอมให้พระยาแคงไปครองเมืองเมาะตะมะ และให้พระยารานครองเมืองพะสิม พระยารานได้นำพระนางเชงสอบูส่งไปถวายพระเจ้าสีหสูแห่งกรุงอังวะ ซึ่งเป็นการตอบแทนที่ได้ช่วยเหลือให้พระองค์ได้ขึ้นเสวยราชย์ ขณะนั้นพระนางมีพระชนมายุ ๒๙ พรรษา มีพระโอรส ๑ พระองค์ และพระธิดา ๒ พระองค์ ได้แก่พระยาวรุ เนตาคาต่อ และเนตาคาถิ่น
 
อย่าเพิ่งหลับและวางหนังสือไว้อ่านวันต่อไป แล้วทำลืมไป ชื่ออะไรต่อมิอะไร จำไว้เป็นเรื่องพอเป็นสังเขป
 
พระเจ้าสีหสูได้มีความหลงใหลเสน่หาแก่พระนางเป็นอย่างยิ่ง ทำให้พระนางเชงโบเม (Shin Bo Mai) พระมเหสีเก่าซึ่งมีสายสัมพันธ์กับทางไทใหญ่เกิดความอาฆาตริษยา พระนางเชงโบเมจึงไปสมคบคิดกับไทใหญ่ให้ยกทัพมาตีอังวะ กลายเป็นสงครามที่รุนแรง พระเจ้าสีหสูทรงออกรบเองจนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๑๙๖๙ พระโอรสที่เกิดกับพระชายาองค์เก่าจึงได้ครองราชสมบัติ แต่สงครามยังไม่สิ้นสุดลง กษัตริย์องค์ใหม่จึงสิ้นพระชนม์ ต่อมามีคนชื่อมังตราคุมสมัครพรรคพวกฆ่าพระนางเชงโบเมทิ้งเสียแล้วตั้งตนเป็นพระเจ้ากรุงอังวะ
 
ทั้งหมดที่เล่ามากินเวลา ๒๒ ปี นี่เล่าเพียงห้าบรรทัดจงขยันอ่านให้จบ เพราะในเวลาต่อมาพระนางก็ลอบเสด็จกลับหงสาวดีด้วยความช่วยเหลือของพระมหาปิฏกธร
 
พระมหาปิฏกธร คืออดีตสามเณรผู้มีสติปัญญา บวชตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ เป็นผู้ศึกษาพระไตรปิฏกที่เมืองพุกามจนแตกฉาน แล้วกลับมาอยู่วัดศรีปรางค์ ณ กรุงหงสาวดี เป็นผู้เทศนาได้ไพเราะน่าฟัง มีกิติศัพท์ไปถึงในวัง พระนางเชงสอบู ตอนนั้นเลื่อมใสมาก มีพระราชศรัทธาและรักใคร่ดุจดังพระราชบุตรแท้ๆ ทรงปราวณาเป็นพระราชมารดา เมื่ออายุครบยี่สิบปี พระนางเจ้ากษัตริย์ได้จัดการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ ได้ฉายา พระมหาปิฏกธร
 
เมื่อพระมหาปิฎกธร พระสงฆ์ที่พระนางเชงสอบูทรงอุปถัมภ์ ทราบเรื่องว่าพระนางไม่สามารถกลับมายังเมืองหงสาวดีได้ จึงพาศิษย์สี่คนไปคิดกลอุบายพานางตละเจ้าท้าวมาขึ้นครองราชย์ในแผ่นดินหงสาวดีได้สำเร็จ ส่วนพระมหาปิฎกธรก็มีความรู้สึกไม่ดีไม่สบายใจ ที่ตนเข้าไปมีส่วนร่วมในการคิดกลอุบายดังกล่าว จึงเกิดความละอายและขอลาสิกขา พระยาวรุ พระโอรสของพระนางที่เกิดจากพระสวามีเก่า ได้ครองเมืองมอญเมื่อ พ.ศ. ๑๙๘๙ อยู่ในราชสมบัติได้เพียง ๔ ปีจึงสิ้นพระชนม์ ตอนหลังไม่เหลือเชื้อสายพระเจ้าราชาธิราชที่เป็นชายสืบสกุล พระนางเชงสอบูจึงได้ขึ้นเสวยราชย์ในที่สุด โดยพระนางอยู่ในราชสมบัติ ๗ ปี และได้ตั้งพระธรรมเจดีย์เป็นรัชทายาท ต่อมาพระนางได้มอบราชสมบัติให้พระมหาปิฎกธรเป็นพระเจ้าหงสาวดี มีพระนามตามจารึกไว้ในหลักศิลากัลยาณีว่า พระเจ้ารามาธิบดี แต่พงศาวดารรามัญเรียกว่าพระเจ้าธรรมเจดีย์ หรือพระมหาปิฎกธร ส่วนพระนางเชงสอบูหลังสละราชสมบัติ ก็ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจนพระนางสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๓
 
 
ดวงประเทียบ, โหราศาสตร์ไทย, อาจารย์แอน, ษณอนงค์, ฮวงจุ้ย, ทักษา, เชงสอบู
 
 
เอาละ เราจะวางดวงชะตาของพระนางไว้ที่ราศีธนู ภพศุภะของดวงมาตรฐาน หรือที่เรียกว่าดวงของโลก ที่ให้ลัคนาอยู่ราศีเมษภพศุภะเป็นภพของผู้ที่ใฝ่ใจในทางศาสนา และให้ดาว ๕ เป็นเกษตรกุมลัคนา และให้เกิดวันพฤหัสด้วย
เพราะตามประวัติ ทรงเป็นพุทธมามกะซึ่งศรัทธาในพระพุทธศาสนา อีกทั้งในเมื่อวัยเยาว์ก็ทรงมีพระทัยมุ่งมั่นในการศึกษาพระไตรปิฏก จึงทำให้ในรัชสมัยของพระองค์ พระพุทธศาสนาในเมืองหงสาวดีจึงเจริญรุ่งเรืองมาก แม้หลังสละราชสมบัติแล้ว พระนางยังทำนุบำรุงพระศาสนาจนพระองค์สิ้นพระชนม์
 
นอกจากนี้ ยังมีดาว ๓ ดาวอุตสาหะเจ้าเรือนภพปุตตะ เป็นพระเคราะห์คู่สมพลของดาว ๕ หมายความถึง บุตรมีกำลังแต่เป็นบุตรบุญธรรม ด้วยดาว ๙ เป็นประ คุ้มครองลัคนา ทั้งยังฝักใฝ่ทางศาสนาเช่นเดียวกัน
 
ดาว ๗ อยู่ราศีกุมภ์ มีกำลังมากที่ราศีนี้ โยคลัคนา หมายถึงชีวิตที่ลำเค็ญในราชวงศ์ พี่น้องชิงราชสมบัติ ตัวพระนางต้องโดนการเมืองเสด็จสู่อังวะเพื่ออภิเษก ด้วยดาว ๖ เล็งลัคน์เป็นพินทุบาทว์ที่ราศีเมถุน เนื่องจากตรีโกณร่วมธาตุกับดาว ๗ จึงมีความขัดข้องเรื่องคู่ แต่งงานโดยไม่เต็มใจ แต่ก็อยู่กันได้ถึง ๒๒ ปี ดาว ๓ ที่กุมลัคน์เล็งดาว ๖ คือ ความรักที่ต้องพลัดพรากจากกันในที่สุด
 
พระนางเชงสอบู พลัดพรากจากสามีถึงสองครั้ง ครั้งที่หนึ่งถูกชิงตัวไปอังวะ ครั้งที่สองหนีกลับหงสาวดี
 
ส่วนใหญ่ที่ต้องพลัดพรากจากสถานอย่างนี้ ต้องมีดาวบาปเคราะห์อยู่ภพพันธุ ว่าแล้วก็พลิกดูดวงตัวเองโดยด่วน ปรากฏว่ามีทั้งชุมนุมอยู่หลายดวง อันนั้นก็มีอีกความหมายหนึ่ง คือตลอดชีวิตก็ยุ่งมุ่งแต่ญาติ ส่วนที่มีศุภเคราะห์สถิตอยู่ มีความหมายว่า วันทั้งวันชอบเปลี่ยนแปลง ทั้งจัด ทั้งเปลี่ยนแปลงบ้านที่อยู่อาศัย และร้อยทั้งร้อยมักชอบทำกิจการตัวเอง และมักเดินทางเปลี่ยนแปลงที่
 
ในกรณีของพระนางเชงสอบู ให้เป็นดาว ๐ เพราะพระนางจากที่แต่ละครั้งคือเภทภัย และวางดาว ๘ ที่ราศีกรกฏภพมรณะ และต้องเป็นราชาโชคด้วยคืออิทธิพลจากพระราชา เพราะดาว ๘ ๐ คือดาวคู่อิทธิพล และภพมรณะคือการพลัดพรากจากทั้งสถานที่ทั้งคน
 
วางดาว ๑ เป็นอุจอยู่ราศีเมษ กุมดาว ๔ ร่วมธาตุกับลัคนา เพราะดาว ๔ เป็นมนตรี หมายถึงจะได้รับความช่วยเหลือจากบุตรที่จะยิ่งใหญ่ในอนาคต
 
ดาว ๒ วางไว้ที่ราศีตุลย์ คือการถือกำเนิดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และความทุกข์ในเรือนตนด้วยอิทธิพลของดาว ๑ และ ๒ ดาวพระเคราะห์คู่ “ทำการวิวาห์จะหวั่นไหว” ทั้งดาว ๒ เล็ง ๔ มีคู่มิตรต่างถิ่นต่างแดน หรือมีความหมายว่าจะมีมิตรชั่วระยะหนึ่ง
 
พระเคราะห์คู่ศัตรู ในเรือนมิตรกัน คือดาว ๖ กับ ๗ คือ จะดีแค่ไหนต่อไปก็แตกแยก ทั้งตัวหรือความคิดเห็น แต่ยังรักษาสภาพดีไว้ พระเคราะห์คู่มิตรอยู่ตำแหน่งเบียนกัน คือถึงจะเป็นศัตรูก็เป็นมิตรกันได้
 
นี่คือความเป็นไปของพระนางเชงสอบู ที่สู่บ้านเมืองศัตรู เป็นมเหสีและก็เป็นมิตรเพียงชั่วคราวแล้วแตกแยกกัน โดยไม่ต้องเป็นมิตรหรือศัตรูกันอีก
 
ดาว ๒ ให้เกาะเพชฌฆาตฤกษ์ เพราะการตัดสินใจที่เด็ดขาดและอดทน ด้วยร่วมธาตุกับดาว ๗ สามารถสร้างหลักฐาน ทั้งประเทศ และพุทธศาสนาที่พระนางปลูกปักให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง
 
ดาว ๒ ที่ร่วมธาตุกับดาว ๖ คือความงามให้ชวนหลงใหล ดังเช่นพระเจ้ากรุงอังวะที่หลงใหลในพระนางจนตัวตาย ถูกเบียนด้วยดาว ๘ หมายถึงความทุกข์ที่เกิดจากเพศตรงข้าม ทั้งเป็นมเหสีคนที่สองของพระเจ้ากรุงอังวะ ทั้งถูกพรากคู่จากเมืองตน ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาชู้สาวตามกฎเกณฑ์
 
แต่ดาว ๘ ในเรือน ๒ คือลาภผลจะเนืองนอง อยู่ในเกณฑ์ของดาว ๓ และดาว ๕ และ ดาว ๙ คือองค์อุปถัมภ์พุทธศาสนา และการทำบุญอย่างมหาศาล ตราบจนสิ้นอายุขัย
 
แต่...ยังก่อนยังไม่จบ ดาว ๗ เป็นกาลกิณีนะ ก็ญาติและผู้ชายไงที่ทำความเดือดร้อนให้พระองค์ ส่วนที่ช่วยเหลือเป็นดาว ๓ ดาวผู้ชายเหมือนกันแต่ก็มาจากภพปุตตะ ถึงแม้ดาวกาลกิณีจะร่วมธาตุกับดาว ๖ ที่เป็นเดช ก็มีความหมายของการถูกจำกัดพระราชอำนาจช่วงเวลาหนึ่งนั่นเอง
 
เป็นอันว่าครบถ้วน จบลงอย่างสบายใจ