เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

แนะนำเกี่ยวกับแผนผังวัด,ตำหนักเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าและห้องต่าง ๆ ในวัดแบบมหายาน ตอนที่ ๔
12 ธ.ค. 2559

 

ตำหนักที่เจ็ด คือ ตำหนัก พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ (ผู่เสียน) บ้างก็เรียกท่านว่า พระโพธิสัตว์แห่งมนตรา เป็นพระโพธิสัตว์ ที่ถือกำเนิดจากพระไวโรจนพุทธเจ้า ในนิกายตันตระบางนิกาย ถือเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เพราะทรงประทาน ความรุ่งเรือง และความสงบสุขให้แก่ชาวโลก วันประสูติของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ คือ วันที่ 21 เดือน 2 ตามจันทรคติแบบจีน
 
พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ทรงได้ชื่อว่า เป็นพระโพธิสัตว์ผู้ทรงเป็นเลิศในทางจริยาและมหาปณิธาน ด้วยทรงมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ ซึ่งถือเป็นภาระอันหนักหน่วง ภาพพระปฏิมาของพระองค์ จึงทรงคชสารเป็นช้างเผือก 6 งา (คัมภีร์มหายานเรียกว่า ช้างฉัททันต์) เพราะถือว่าช้างเป็นสัตว์ที่ทรหดอดทน เป็นการอุปมาอุปไมยถึง การโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ทั้งหมดว่าเป็นงานที่ยากแสนเข็ญ ต้องใช้ความอดทนอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาชนะกิเลสและตัณหาของสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง
 
พระนามของท่านมีความหมายว่า “ความปรารถนาดีอันประเสริฐที่สุด แห่งพิภพ”
 
ประวัติของท่านมีด้วยกันหลายตำนาน ซึ่งจะขอยกตัวอย่างมาดังต่อไปนี้
 
คัมภีร์หัวเหยียนจิง ของจีนกล่าวว่า พระโพธิสัตว์ผู่เสียน คือบุตรชายคนโตของพระยูไล ว่ากันว่า ในบรรดา พระทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ผู่เสียน คือ พระองค์แรก
 
คัมภีร์เปยหัวจิง ของจีนกล่าวว่า พระโพธิสัตว์ผู่เสียน คือ บุตรองค์ที่แปด ของ พระอมิตาภะพุทธเจ้า มีศักดิ์เป็นพี่น้องกับ พระโพธิสัตว์เหวินซู และ พระโพธิสัตว์กวนอิม
 
คัมภีร์เสี่ยวเชิ่งจิง กล่าวว่า ในสมัยก่อน มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งนาม เมี่ยวจวง มีพระธิดาสามพระองค์ พระโอรสหนึ่งพระองค์ พระธิดาองค์โต ภายหลังเป็นพระโพธิสัตว์เหวินซู พระธิดาองค์รองภายหลังเป็นพระโพธิสัตว์ผู่เสียน พระธิดาองค์เล็ก ภายหลังเป็น พระโพธิสัตว์กวนอิม และพระโอรส ภายหลังเป็น พระโพธิสัตว์ตี้จั้งหวัง
 
องค์ผู่เสียน ชาวจีนโบราณขนานนามท่านว่า “ผู่เสียนผู้เป็นใหญ่แห่งความเพียร”  ผู้กราบไหว้พระโพธิสัตว์ผู่เสียน มักขอพรให้ตนเองประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงานหรือการประกอบธุรกิจ ผู้กราบไหว้บูชามักสมหวังดังสิ่งที่อธิษฐานขอ ทั้งนี้จากรูปลักษณะขององค์ผู่เสียน พระหัตถ์ซ้าย จะถือหยกหรูยี่ (หยกแห่งความสมหวังและอำนาจ) ในประเทศจีนเชื่อกันว่าพระโพธิสัตว์ผู่เสียน สถิตอยู่ ณ เทือกเขาง้อไบ๊ (ภาษาจีนกลางเรียก เทือกเขา เอ๋อร์เหม๋ยซาน)
 
พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ทรงสอนไว้ว่า พึงเคารพบูชาพระพุทธเจ้าทั้งปวง การเคารพบูชาพระพุทธเจ้านั้น จะต้องเป็นการเคารพบูชา อันประกอบด้วย กาย วาจา ใจ (อันแน่วแน่ และบริสุทธิ์เปี่ยมด้วยความตั้งใจ) ที่สมบูรณ์
 
ในจริยาของพระสมัตภัทรโพธิสัตว์ ขึ้นชื่อว่า เป็นผู้เคร่งครัดระเบียบวินัย และไม่ตามใจ ไม่ให้โดยไร้เหตุผล สรรเสริญผู้มีความเพียร
 
 
สมันตภัทร, กวนอิม, อวโลกิเตศวร, มัญชุศรี, มหายาน, กษิติครรภ์, โพธิสัตว์, ศากยมุนี
 
 
 

ต่อจากตำหนักพระสมันตภัทรโพธิสัตว์

 

ขวามือ คือห้องอาหาร ทานเจ ทั้งภิกษุและฆารวาส เวลาก่อนทานอาหารต้องระลึกว่า ตัวเราบำเพ็ญดีแล้วหรือยัง ดีพอที่จะรับอาหารพวกนี้หรือไม่ พิจารณาเห็นคุณค่าของข้าว และด้วยจิตสำนึกคุณของข้าว และผู้ปลูก ผู้ทำ เป็นต้น

 

ซ้ายมือ คือ ห้องสวดพระนามของพระพุทธะ เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระโพธิสัตว์ ในห้องนี้ ประดิษฐานรูปของ พระอมิตภพระพุทธเจ้า  สำหรับผู้อยากไปเกิดในแดนอมิตภะหรือแดนสุขาวดี เชื่อว่าเมื่อเอ่ยพระนาม อมิตทอฝอ ท่านจะมารับตอนเราสิ้นสังขารไปแล้ว  อมิตทอฝอ มือหนึ่งจะถือดอกบัว อีกมือจะเปิดเอาไว้รับคนที่ต้องการไปเกิดทางทิศตะวันตกของแดนอมิตภะ จะถือกำเนิดในดอกบัว  

 

ในอมิตภะวยุหสูตร เมื่อสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ได้ตั้งปณิธานว่า หากท่านสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้วหากมีสรรพสัตว์ต้องการมาเกิดในแดนอมิตภะ สรรพสัตว์นั้นสวดพระนามของท่านครบสิบครั้ง จะได้ไปเกิดในดินแดนของท่าน ท่านจะยังไม่ไปพุทธภูมิ แต่หากเรากระทำในอนันตริยกรรมทั้งห้า ก็ไม่สามารถไปเกิดในดินแดนนี้ได้ ในห้องจะมีพระคอยนำสวด และเราจะเห็นผู้คนมาสวดกันตั้งแต่เช้า แล้วไปกินข้าว แล้วกลับมาสวดต่อจนบ่ายคล้อยค่อยกลับ

 

 

 
 



 

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
  • การจัดหิ้งพระ
  • พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์
  • การถวายสิ่งของในพุทธศาสนา
  • แนะนำเกี่ยวกับแผนผังวัด,ตำหนักเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าและห้องต่าง ๆ ในวัดแบบมหายาน ตอนที่ ๖
  • แนะนำเกี่ยวกับแผนผังวัด,ตำหนักเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าและห้องต่าง ๆ ในวัดแบบมหายาน ตอนที่ ๕
  • แนะนำเกี่ยวกับแผนผังวัด,ตำหนักเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าและห้องต่าง ๆ ในวัดแบบมหายาน ตอนที่ ๓
  • แนะนำเกี่ยวกับแผนผังวัด,ตำหนักเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าและห้องต่าง ๆ ในวัดแบบมหายาน ตอนที่ ๒
  • แนะนำเกี่ยวกับแผนผังวัด,ตำหนักเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าและห้องต่าง ๆ ในวัดแบบมหายาน ตอนที่ ๑
  • พุทธคีรีทั้ง ๔ ในประเทศจีน