เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

วิธีบูชาพระธาตุ
22 พ.ค. 2558

 

 

ประวัติศาสตร์, โหราศาสตร์, อาจารย์แอน, ajarnann, พระธาตุ

 

 

        สำหรับคนที่มีพระธาตุบูชาที่บ้าน  เราพูดถึงในลักษณะของตัวอาจารย์เอง ซึ่งความเป็นผู้หญิงนั้น บุญเรายังไม่ถึงที่จะรักษาไว้  เราต้องนำไปถวายเป็นอุเทสิกเจดีย์  คือถวายให้เป็นของสงฆ์จะเหมาะควร  ตามความเห็นของข้าพเจ้า  เป็นพระบรมสารีริกธาตุนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้   น่าจะเป็นพระธาตุของพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายมากกว่า เพราะตามพุทธประวัติ โทนณพราหมณ์ได้จัดแบ่งเป็นแปดส่วน  ไม่น่าจะเสด็จมาถึงเรา อาจเป็นเพราะข้าพเจ้าบุญไม่พอ จึงไม่เคยมีโอกาสได้เห็น   อย่างไรก็ตาม เราควรจะถวายพระ ให้พระภิกษุสงฆ์ได้กราบไหว้บูชา

 

        แต่ถ้าเราได้รับมาและมีศรัทธาสูง  หรือว่าพระธาตุเสด็จมาเองเพราะว่าเราบูชาถูกต้อง เราก็ต้องมีฉัตรเงินฉัตรทองและต้องไว้ที่สูงที่สุด  ถ้าเราตั้งหิ้งก็ต้องตั้งไว้ที่สูงที่สุดเช่นกัน 

 

        โดยมาก พระธาตุที่เคยได้รับมา จะมีในส่วนของลูกศิษย์ไปรับมาและมีพระภิกษุสงฆ์ก็นำมามอบให้ข้าพเจ้า เพื่อความเป็นศิริมงคล  แต่ว่าข้าพเจ้าคิดว่าพระธาตุคือพระพุทธเจ้า นำไว้ที่บ้านที่มีเสียงทะเลาะ มีการพูดจาที่ไม่ควร และวันใดวันหนึ่งอาจจะเผลอปรามาสโดยไม่รู้ตัว หรือว่าทำตกแตกหรือว่าทำอะไรที่เราคิดไม่ถึง และรู้เท่าไม่ถึงการณ์

 

        กล่าวคือ ต้องมีความมั่นใจจริงๆว่า เราต้องสำรวม กาย วาจา และใจ เดินผ่านเหมือนผ่านพระพุทธเจ้า  เราต้องเข้าห้องพระทุกวัน ทำความสะอาดทุกวันและต้องรักษาได้  อยู่ในผอบแก้ว อยู่ใต้ฉัตร  ถ้าเรารักษาไม่ได้อย่างนั้น เราไปถวายให้พระท่านดีกว่า  ท่านจะได้บรรจุขึ้นเจดีย์สูง ให้ผู้คนสักการบูชาไม่ใช่เราคนเดียว  เราไปสักการบูชาที่นั่นก็เหมือนกับเราได้ไหว้ที่บ้านได้บุญเหมือนกัน

 

        มีบางคนเล่าว่าพระธาตุเสด็จมาเองที่บ้าน เรื่องนี้ก็พูดยาก สำหรับข้าพเจ้าไม่มีวิจิกิจฉา ไม่สงสัยในข้อนี้และไม่ปรารถนาที่จะค้นหาความจริง  เพราะเราต้องบอกว่า พระพุทธองค์เคยตรัสว่าเป็นเรื่องอจินตัยในการสงสัยในฌานของพระพุทธเจ้า  ดังนั้นปาฏิหาริย์อะไรที่เกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุก็ดี  พระธาตุของพระอรหันต์เจ้าก็ดี  ข้าพเจ้าจะไม่สงสัยและคำว่าไม่สงสัยก็ไม่ได้เลยเถิดไปกล่าวหาว่าใครไปแอบอ้าง

 

        เมื่อได้รับมาก็บูชาหมด มีโอกาสก็จะนำไปถวายพระสงฆ์ ให้ประทับในที่ที่ควรบูชา  กล่าวคือ จงกระทำตนเป็นผู้ที่ไม่มีวิจิกิจฉา มีความศรัทธาในพระพุทธองค์ ไม่สงสัยในญาณของพระพุทธเจ้า  ไม่สงสัยในพระพุทธศาสนา  เราได้บุญตรงนี้  ไม่ใช่บุญที่ว่าเราไปสงสัยค้นหาความจริง แต่ว่าเราได้บุญที่ว่าเราไปกราบไหว้เพราะว่าจิตเราไม่ฟุ้ง



 

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง