บทความพิเศษ

 

พระยามังรายกับล้านนา
17 พ.ค. 2558

 

 

อาจารย์แอน, ประวัติศาสตร์, โหราศาสตร์, ajarnann, พระยามังราย

 

        ความจริงพอเปิดหน้าประวัติศาสตร์ หลายคนคงไม่อยากคลิ๊ก..เข้ามาดู แต่หน้าประวัติศาสตร์ของเรานี้ อยากสอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับทำเล อาจบอกได้ว่า ประวัติศาสตร์การขยายเมืองหรือการสร้างเมืองในทัศนะของซินแสฮวงจุ้ยนำมาวิเคราะห์ร่วมกันน่าจะดีกว่า ที่จะไม่ใช้คำว่าเราดูทำเลสร้างเมือง เพราะดูเป็นการยกตนอย่างไรชอบกลว่า ข้าสามารถดูทำเลได้..จะสร้างบ้านสร้างเมืองก็ได้ เอาเป็นว่าในทัศนะนักวิเคราะห์เล่นๆ โดยใช้หลักวิชาจริงๆ ดีกว่า

         ก่อนอื่นต้องแนะนำกษัตริย์คนสำคัญที่เรามีความคุ้นชื่อพระองค์ท่านมาก คือ พระยามังราย ซึ่งความสำคัญของพระองค์ท่านนั้น ก็จะขอยกข้อความตอนหนึ่งของหนังสือ “๒๐๐ ปี พม่าในล้านนา” มีข้อความตอนหนึ่งว่า

         “สำหรับตัวพระยามังรายผู้ก่อตั้งล้านนานั้น ปรากฏตามตำนานพื้นเมืองว่า พระองค์สืบเชื้อสายมาจากพระยาลวจังกราช ปฐมกษัตริย์ของเมืองหิรัญนครเงินยางในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกก ระยะที่พระยามังรายขึ้นมามีอำนาจปกครองเมืองหิรัญนครเงินยางใน พ.ศ. ๑๘๐๒ ….”

         ที่ตั้งของเมืองหิรัญนครเงินยางปัจจุบัน อยู่ในเขตเมืองเชียงแสน ติดแม่น้ำกก

         “…สำหรับ การขยายอำนาจลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงนั้น พระยามังรายได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๑๗ และประสบความสำเร็จในการยกทัพเข้ายึดครองเมืองหริภุญชัย ซึ่งเป็นเมืองสำคัญ ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงได้ใน พ.ศ. ๑๘๒๔  ต่อมาใน พ.ศ. ๑๘๓๙-๑๘๔๐ พระยามังรายได้ประสบความสำเร็จในการยึดเอาเมืองลำปางมาอยู่ภายใต้อำนาจของพระองค์อีกเมืองหนึ่ง และในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงนี้เอง ที่พระยามังรายเลือกสร้างเมืองที่ประทับแห่งใหม่ของพระองค์แทนเมืองในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกก โดยเริ่มจาก พ.ศ. ๑๘๒๖ พระองค์ได้สร้างเมืองอยู่ทางทิศอิสานของเมืองลำพูน และต่อมาใน พ.ศ. ๑๘๒๙ พระองค์ได้ย้ายมาสร้างเมืองกุมกามเป็นที่ประทับแห่งใหม่ และสุดท้ายได้ย้ายมาสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นที่ประทับอยู่ในเขตที่ราบลุ่ม แม่น้ำปิง พระองค์ทรงมีความพยายามที่จะขยายอำนาจไปในทางทิศตะวันตก อันได้แก่ เมืองอังวะ และเมืองหงสาวดี และพระยามังรายทรงประสบความสำเร็จในการทำให้ทั้งกษัตริย์เมืองอังวะ และกษัตริย์เมืองหงสาวดียอมรับในอำนาจของพระองค์ โดยพระยามังรายสามารถทูลขอพระธิดาเมืองหงสาวดีมาเป็นชายา และทูลขอช่างฆ้อง ช่างเครื่อง ช่างเงิน ช่างทอง ช่างเหล็ก จากเมืองอังวะมาไว้ที่ล้านนาได้”

        เมื่อยกประวัติอย่างย่อของการขยายอาณาเขตอาณาจักรล้านนาของพระยามังรายออกมา จะสังเกตเห็นได้ว่า พระยามังรายถือกำเนิดเขตลุ่มแม่น้ำ การขยายอาณาเขตก็ไปสิ้นสุดที่แม่น้ำ ทั้งที่เขตตอนเหนือของแผ่นดินไทยเป็นที่ราบสูง มีภูเขา เรียกได้ว่าเป็นเขตเขาที่มีทั้งต้นน้ำและแม่น้ำที่สำคัญ ที่เชียงแสนหรือเมืองหิรัญนครเงินยางในอดีตติดกับแม่น้ำโขง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงในประเทศจีน เมืองเชียงรายต่อจังหวัดพะเยา ติดแม่น้ำกก ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงตอนเหนือของประเทศ เมืองลำพูน เวียงกุมกาม และเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำปิง ขยายอาณาเขตไปทางลำปาง ติดแม่น้ำวัง ไปถึงกรุงอังวะ ก็ติดกับแม่น้ำเมี๊ยะเง และแม่น้ำอิรวดี ส่วนหงสาวดีมีทางออกทางทะเล ถือเป็นที่ราบลุ่มเช่นกัน           

         คำกล่าวที่ว่า อารยะธรรมเกิดจากแหล่งที่มีแม่น้ำสายใหญ่ๆ ในหลักของฮวงจุ้ยก็มีคำสอนเช่นกันว่า ความเจริญของเมืองใหญ่ เมืองเล็ก เมืองน้อย ล้วนมาจากแหล่งน้ำ การตั้งบ้านเรือนสมัยก่อน มักตรวจสอบถึงแหล่งน้ำ แม่น้ำ และทางเดินของน้ำเป็นปัจจัยหลักในการสร้างบ้านแปงเมืองนับแต่โบราณ

         “น้ำคือทรัพย์” มีความหมายที่ลึกซึ้งของคำว่า “รองรับ” ชี่ หรือ ปราณ นำพาสรรพสิ่งจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แอ่งที่ขุดลึกต่ำกว่าแผ่นดิน ถือเป็นจุดรองรับที่สมบูรณ์ ไม่ปะทะไม่ต้านทาน รับโดยไม่มีเงื่อนไข ดังนั้นจึงมีคำกล่าวว่า “ต่ำกว่าภู คือ ทรัพย์”

         ส่วนที่ว่า ที่สูงคือภูเขา หมายถึงบารมี หมายถึงสิ่งที่สูงขึ้นจากแผ่นดิน คือแรงผลักดัน คือการปะทะต่อต้าน ชี่ หรือ ปราณ จึงหมายถึงอำนาจและบารมีที่ต้องใช้เวลาสั่งสม จึงจะหนักแน่นมั่นคงไม่ถูกพังทลายง่ายๆ “สูงกว่าดิน คือ บารมี”

         น้ำ สามารถขยายตัว ไหลไปได้ในที่ต่ำกว่า ซึ่งยิ่งต่ำกว่ายิ่งไหลแรงและเร็ว และมีอำนาจการทำลายล้างสูง อาจกล่าวได้ว่า หากต้องการขยายกิจการ ควรสำรวจดูตำแหน่งน้ำ เหมือนกับการสร้างเมืองต้องสำรวจแหล่งน้ำ

         ในหลักวิชา ธาตุน้ำเป็นธาตุก่อกำเนิด เพราะมีที่มาที่ไปชัดเจน สามารถมองเห็นได้ อนุมานได้ ทิศเหนือเป็นทิศสูง จึงให้ธาตุน้ำไปครอง ถือว่าเป็นทิศก่อกำเนิด การจะตั้งกิจการหรือริเริ่มทำอะไร ต้องดูทิศเหนือว่าส่งเสริมหรือเสียหาย

         ในการรวมประเทศของจีนสมัยสามราชวงศ์ ในการล้มล้างราชวงศ์ซาง ก่อตั้งราชวงศ์โจว เสนาบดีเจียงไท่กงแนะนำให้ตีหัวเมืองทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนเข้าโจมตีเมืองหลวง เป็นการยึดที่มั่นให้มั่นคง ไม่มีศัตรูตีโอบ เพื่อทำศึกประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือ ตามหลักการทำศึกเพื่อการสร้างชาติบ้านเมือง ต้องตีรอบนอกเข้าหาในเมือง

         สังเกตเองว่า พระยามังราย รวบรวมจากอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง พะเยา ลำพูน เมืองกุมกาม แล้วมาตั้งหลักอยู่ที่กุมกาม ๑๕ ปี  ถึงสร้างนครเชียงใหม่ ซึ่งปลอดภัยจากการรุกรานหัวเมืองทางเหนือขึ้นไปแล้ว

 

 

อาจารย์แอน, ประวัติศาสตร์, โหราศาสตร์, ajarnann, เวียงกุมกาม
 


         การสร้างเมืองกุมกาม ก็มีสาระที่น่าสนใจตามหลักวิชาฮวงจุ้ย กล่าวคือ ถึงแม้จะยึดหลักการสร้างเมืองตามแม่น้ำ แต่ตรงไหนล่ะคือจุดเริ่มต้น พระยามังรายเริ่มชุมชนด้วยการสร้างตลาดนัด อันเป็นที่มาของ “กาดมั่ว” ของทางภาคเหนือ ที่มักมีตลาดเช้าเป็นที่ชุมนุมของชุมชน พระยามังรายดูชุมชนที่มารวมกันถึงสามปี จึงกำหนดจุดสร้างเมือง น่าแปลกที่ว่า ในหลักวิชาฮวงจุ้ยก็กล่าวว่า ทำเลมีผลชัดเจนภายในสามปี เขียนอย่างนี้อาจมีผู้ถามว่าหมายความว่า ทำทำเลแล้วต้องคอยถึงสามปีหรือเปล่า อย่างนี้ขอกล่าวว่า “โปรดฟังอีกครั้ง” ทำเลจะค่อยๆแสดงผลไปจนถึงสามปีจึงมีผลเต็มที่ แล้วเราค่อยคิดจากผลที่เราเห็นทั้งหมดว่าจะอยู่ต่อ หรือจะเผ่นดี ดังนี้

         การสร้างเมืองเชียงใหม่มีสาระที่น่าสนใจที่จะมีตอนต่อไป  โปรดติดตาม……