บทความพิเศษ

 

นครวัด
17 พ.ค. 2558

 

 

อาจารย์แอน, ประวัติศาสตร์, โหราศาสตร์, ajarnann, นครวัด

 

        จากหนังสือนิตยสารรายสองเดือน กรมศิลปากร  เรื่องพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ พงศาวดารเขมรสร้างพระนครวัดพระนครธม โดย “อรวรรณ ทรัพย์พลอย”             

         “…..ในกาลปางก่อนนั้น อันพระนครวัด นครธม ทั้งสองนี้มีอยู่ในแว่นแคว้นเขมร สร้างเมื่อครั้งพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑๔๐๐ พรรษา”

         “ นครวัด เป็นศาสนาสถานที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ หรือสูรยวรมันที่ ๒ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายพระวิษณุ (พระนารายณ์) ต่อมาสมัยหลัง พระนครได้ดัดแปลงเป็นพุทธสถาน เรียกกันว่า “พระนครวัด” บางครั้งเรียกว่า นครเล็ก คู่กับ นครธม ซึ่งแปลว่านครใหญ่ อันหมายถึงบริเวณเมืองโบราณพระนครศรียโศธรปุระ ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดเสียมเลียบ ประเทศกัมพูชา เมืองพระนครศรียโศธรปุระ สร้างขึ้น ๒ ครั้ง ครั้งแรกสร้างในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑  มีศูนย์กลางอยู่ที่ภูเขาพนมบาเค็ง (พนมกัณฏาล)  ต่อมาถูกพวกจามปาเข้ามาทำลาย ครั้นถึงสมัยพระเจ้าชยวรรมันที่ ๗ (พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗) ได้ทำสงครามขับไล่พวกจามปา แล้วขยับที่ตั้งของเมืองไปทางทิศเหนือ สร้างครอบซ้อนบางส่วนของเมืองพระนครเมืองเก่า มีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทบายน

         เนื้อหาของเรื่องพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ หรือ พงศาวดารเขมร สร้างพระนครวัด พระนครธม กล่าวความตั้งแต่พระอินทราธิราชทรงพระสุบินว่า แก้วมณีโชติหลุดจากพระโอษฐ์  ตกลงในเปือกตมเมืองมนุษย์  ครั้นทรงหยั่งทราบเหตุการณ์ภายหน้าตลอดแล้ว จึงมีเทวโองการให้ เกตุเทวบุตร จุติลงมา ถือปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางเทพวดี พระอัครมเหสีของท้าวโกเมราช แห่งพระนครเขมราชธานี สืบวงษ์มาจนถึงกษัตริย์องค์หนึ่ง พระนามว่า พระเจ้าปักษีจำกรง ลอบเสด็จเข้าไปในไร่บุรุษแตงหวาน บุรุษแตงหวานสำคัญว่าเป็นโจร จึงปลงพระชนม์ด้วยหอกคู่มือ ต่อมามุขมนตรีทั้งปวงพร้อมกันกราบทูลเชิญบุรุษแตงหวานนั้นให้ขึ้นทรงราชย์  ทรงพระนามว่า พระเจ้าสุริโยพันธ์ ครองอินทปัถมหานครสืบมา”

         จากเนื้อความที่คัดมาดังกล่าวข้างต้น เป็นความรู้เรื่องเกี่ยวกับ พระนครวัด นครธม ซึ่งเก่าแก่จนมีประวัติที่มาเป็นลักษณะกึ่งพงศาวดาร กึ่งตำนานที่น่าสนใจ แต่สรุปแล้วเป็นการแสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ที่สร้างเพื่อเป็นเทวสถาน ทั้งกษัตริย์ผู้สร้างก็มีตำนานที่ไปเกี่ยวข้องกับพระอินทร์ ซึ่งถือว่าเป็นเทวดาที่มีอนุภาพที่สุดของเบื้องบน  ในการสร้างบ้านแปงเมืองหรือสถานปนาอาณาจักรต่างๆ  มักมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเทวดาเสมอ ทั้งนี้ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ

         ความจริง ในทัศนะของวิชาโหราศาตร์พิชัยสงครามก็ดี หรือการดูทำเลตั้งเมือง ถือว่าการสร้างศรัทธาและความสามัคคีนี้ เป็นจุดเด่นที่สำคัญที่สุด ที่เรียกว่าสามัคคีคือพลังคงเป็นความจริงแน่แท้ เพราะศรัทธาคือหนึ่งเดียว ที่จะรักษาทุกอย่างให้เหนียวแน่นคงทน