เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ความแตกต่างระหว่างพุทธศาสตร์ กับ ไสยศาสตร์ (ตอนที่ ๑)
18 พ.ค. 2558

 

 

ประวัติศาสตร์, โหราศาสตร์, อาจารย์แอน, ajarnann

 

        คำว่า “ไสยศาสตร์“ จะเข้าไปในหลายสาขาอาชีพ  ไม่เฉพาะหมอดูฮวงจุ้ย  แต่จะแทรกรวมถึงการแพทย์ด้วย   เช่นหมอรดน้ำมนต์โดยใช้วิชา  ในที่นี้จะแยกแยะว่า  ไสยศาสตร์จะเกี่ยวข้องกับอะไร  โดยส่วนใหญ่ เข้าใจว่าเกี่ยวกับเวทมนต์คาถา การทำนายทายทักทางไสยศาสตร์     ความหมายที่แท้จริงทางไสยศาสตร์คืออะไร  ต่อไปเราก็สามารถแยกแยะได้ด้วยตนเอง  โดยไม่ต้องให้คนอื่นมาแยกแยะให้กับเรา

 

        ในประวัติศาสตร์  ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนามาทางสุวรรณภูมิ  ก็ต้องต่อสู้กับไสยศาสตร์  ต่อสู้กับความเชื่อของคนที่อยู่แถบนี้มาดั้งเดิม  เกี่ยวกับความเชื่อภูตผีปีศาจในสุวรรณภูมิ   คือประเทศไทยในปัจจุบันนี้นี่เอง   กล่าวกันไปแล้วหลายท่านอาจจะคุ้นหูกับพระเจ้าอโศก  หรือพระเจ้าอโศกท่านมาเกี่ยวอะไรกับตรงนี้    หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วประมาณ  ๒๐๐  ปี   พระเจ้าอโศกเป็นผู้สังคายนา  และทำเครื่องหมายปูชนียสถานสำคัญๆ ในทางพุทธศาสนา  ให้เราท่านทั้งหลายที่ไปประเทศอินเดียได้รู้จักสังเกต  โดยเฉพาะในประเทศเนปาล  จะมีเสาอโศกปักไว้ในสถานที่สำคัญ  ที่พระองค์ท่านทรงประสูติ  ตรัสรู้  แสดงปฐมเทศนา  ซึ่งพระเจ้าอโศกเป็นผู้ทำขึ้นทั้งหมด   พระเจ้าอโศกจึงมีคุณทางด้านศาสนาค่อนข้างมาก    และสืบทอดมาถึงรุ่นพวกเรา  ที่จะสามารถตามรอยได้ 

 

        ในเขตสุวรรณภูมิที่พระองค์ทรงเผยแพร่  เพื่อให้พระพุทธศาสนาชนะและสามารถลงหลักปักฐาน  อยู่ในเขตสุวรรณภูมิแห่งนี้ ในครั้งที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมินี้  พระภิกษุสงฆ์ที่มาในตอนนั้นใช้ภูมิฌานสูตร  ในการที่จะลดความเชื่อถือที่มีดั้งเดิม   ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมิจฉาทิฐิ  ซึ่งในภูมิฌานสูตรจะมีถึง ๖๒  ข้อด้วยกัน  และพระสูตรนี้จะต้องต่อสู้ทุกๆ ข้อ  จนในที่สุด ได้ชนะและสามารถสืบพระศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ได้อย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน  เมื่อมีประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน  ใช้ภูมิฌานสูตรในอันที่จะขจัดไสยศาสตร์ออกไปจากดินแดนสุวรรณภูมิและ ประดิษฐานพุทธศาสนาลงไป  ในภูมิฌานสูตร  เป็นการนำมิจฉาทิฐิออกไป  โดยนำสัมมาทิฐิเข้ามาแทน   เชื่อในกฎแห่งกรรมตามหลักพุทธของเรา  ใช้เหตุใช้ผลในการตอบคำถามต่างๆ   ในสมัยก่อน เขตสุวรรณภูมิ  สิ่งต่างๆที่เขียนไว้ในตำนาน  เป็นความรู้สึกของคนที่จะไม่สามารถตอบปัญหาต่างๆ ให้กับตัวเองได้    มนุษย์มีความสงสัย ทำไมเป็นแบบนี้  แบบนั้น  ในตำราก่อน ๆ ที่เขียนไว้  จะมีอุปสรรคมากมายในการที่คนนับถือไสยศาสตร์จะเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสตร์

 

        คำว่า “ พุทธ “ มาจาก  พุทโธ  แปลว่า  ผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบานแล้ว  แต่คำว่า “ ไสย “ แปลว่า  “ไสยาสน์  นอนอยู่  หลับอยู่ “  ก็ได้  คล้าย ๆ กับพระพุทธปางไสยาสน์  หรือจะแปลว่า “ ดีกว่า” ก็ได้  ถ้าแปลจากตรงนี้  ไสย   นอนหลับ  ตรงข้ามกับพุทธ  ผู้รู้  ผู้ตื่น  คือรู้อะไรก็ตามรู้โดยการตื่นจากหลับ    ไสย  ตรงกันข้าม  รู้หลับอยู่  ไม่ผ่องใส    ไสยศาสตร์มีรากฐานมาจาก  ไม่รู้คู่ปัญญา  เหมือนกับคนที่หลับอยู่  เมื่อฝันอย่างไร  ก็นึกแบบนั้นและนำสิ่งนั้นมาเป็นหลัก    พุทธศาสตร์  ตื่นอยู่  ไม่เอาความฝัน  ความคาดคะเน  หรือสิ่งเหล่านั้นเป็นหลัก  ใช้เหตุและผล  ใช้การรู้ตื่นรู้จริงนั้นเป็นหลัก

 

        ความหมายว่า  ดีกว่า วัฎฎ   แปลว่า  “  ไสยศาสตร์  ดีกว่าไม่มีอะไรเสียเลย  “  มนุษย์ช่วงแรกไม่มีความรู้เลย  แปลว่า  “ ความรู้ที่ดีกว่าไม่มีเสียเลย “  มาจากสังคมการเริ่มต้นเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ขึ้นมาจะมองหาสิ่งยึดเหนี่ยว   ศาสนาตอนนั้นยังมาไม่ถึง จะไปเชื่อเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ ดีกว่าไม่มีอะไรเสียเลย  ในขณะที่พุทธศาสตร์เป็นความรู้ที่ต้องศึกษาจนถึงสูงสุด  ที่เรียกว่า “ ตัดอาสวะกิเลส “  อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง    เมื่อเริ่มคำแปล  ความรู้สึกจะแตกต่างกัน  เมื่อเรานำมาเปรียบเทียบศึกษาในหลาย ๆ  วิชา  ยกตัวอย่างเช่น  การศึกษาในวิชาโหราศาสตร์  จะศึกษาในแนวไหน  จะเป็นในแนวผู้ตื่นแล้ว ไม่นำมาเป็นหลักแต่นำมาเป็นเครื่องมือ   ข้อมูลประกอบ  เป็นการศึกษาศาสตร์โบราณว่า    คนโบราณรู้อะไร  เห็นอะไร  ตัดสินใจจากอะไร  แล้วเราก็นำมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับปัจจุบันที่เรารู้แล้ว  เห็นแล้วในบางสิ่งบางอย่าง  กรองประโยชน์ของการดูดาวอย่างล้วน ๆ ก็จะเห็นจังหวะในการดำเนินชีวิต  ก็จะเป็นการศึกษาที่ไม่ใช่ไสยศาสตร์  แต่ถ้าศึกษาโหราศาสตร์  เพื่อมาเป็นเครื่องชี้นำชีวิต จะเป็นไสยศาสตร์   ทำนองว่าไม่มีหลักยึดที่แน่นอน  การศึกษาวิชาเหล่านี้จะนำมาเป็นหลักในชีวิตไม่ได้      กรณีคนที่เกิดความรู้สึกว่า ชีวิตช่วงนี้  ดาวบาปเคราะห์เข้ามามีผลในชีวิต  เช่น   ดาวเสาร์ทับ  ดาวราหูเล็ง    จะต้องรีบไปสะเดาะเคราะห์ที่วัด  ทำให้รู้สึกว่า  ตัวเรานั้นจะเชื่อถืออะไรกันแน่  จะเป็นไสยศาสตร์หรือพุทธศาสตร์ 

 

        เกิดความสับสนในชีวิต    เราจะต้องเริ่มต้นจากการกราบพระพุทธรูปก่อน  การกราบพระเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยแบบนั้นแบบนี้   ท่านพุทธทาสว่า  “ การกราบแบบนี้เป็นการโง่และงมงาย  จะเป็นไสยศาสตร์ “   แต่ถ้าพุทธบริษัทท่านใด  จะให้พระพุทธเจ้าช่วยอะไร  จะปฏิบัติตามโดยการระลึกถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์    กราบพระด้วยการยึดแนวทางการปฏิบัติของพระพุทธองค์เป็นที่ตั้ง  และปฏิบัติตามนั้น  และเห็นดี  เห็นงาม  เห็นจริง  เห็นความถูกต้อง  ของพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  กราบพระพุทธแบบนี้เป็นพุทธศาสตร์  ถ้าเราไปสะเดาะเคราะห์  ไปบูชาพระราหู   ในลักษณะบูชาตามประเพณี  แต่ตัวเราปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นไม่ว่าจะเป็น  ทาน  ศีล  บารมี  เป็นการสะเดาะเคราะห์  จะเป็นพุทธศาสตร์  เห็นจริง  เห็นจัง  มีหลักให้ยึดในแนวทางที่ถูกต้อง   แต่การกราบไหว้บูชา  ไม่มีหลักหรือแนวทางที่ถูกต้อง  ถึงเวลาก็ไปทำพิธีกรรมขอให้ท่านช่วย  กรณีนี้ความเป็นไสยศาสตร์ จะอยู่ในใจของผู้กระทำเอง  คนที่จะรู้พระคุณของพระพุทธเจ้า  จะเลื่อมใสหรือพอใจ  ต้องศึกษาหลักธรรมและทดลองปฏิบัติเห็นได้ด้วยตนเอง  เป็นของจริง

 

 พุทธ  ผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน

  

        ไสย  ทำไปโดยไม่รู้ไม่เห็น  อยากจะได้และขาดเหตุผล  ถ้ายึดหลักแนวทางนี้ในการดำเนินชีวิต  คน ๆ นั้นเป็นไสยศาสตร์  ไสยศาสตร์ไม่ได้อยู่ที่วิชา  แต่อยู่ที่ใจของบุคคล   แม้ท่านพุทธทาสได้อธิบาย   ไสยสาสตร์แทรกอยู่ทุกที่   อยู่ในใจ  ไม่ว่าจะคิด  จะปฏิบัติ  มีการเอาปัญญาเข้าไปอยู่ด้วยหรือไม่  ถ้าใช้ความงมงาย  นำเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่แน่ไม่นอน  นำมาปฏิบัติ  คนนั้นงมงายไสยศาสตร์  และจะไปว่าคนอื่นที่เขาศึกษาวิชาต่าง ๆ  แล้วนำไปตีความว่าเขางมงายเหมือนตนเองจะไม่ได้  หลายคนที่ศึกษา  จะศึกษาด้วยปัญญาก็มี  การจะสรุปว่าคนใดเรียนวิชาใด ๆ แล้วงมงายไร้สาระ  จะไม่ใช่นะค่ะเป็นบาป  บางคนยึดสุราเป็นสรณะ โดยรักพวกพ้อง  เฮฮาด้วยกันไปไหนไปด้วย  ยึดคำปรึกษาของเพื่อนฝูงเป็นหลักจะยิ่งงมงายไร้สาระและเป็นไสยศาสตร์มากกว่า  คนที่มีการศึกษาหรือทำอะไร โดยใช้สติปัญญาไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ใดก็ตามจะศึกษาถึงแก่น  ศึกษาด้วยเหตุและผล เป็นพุทธิปัญญา  นำมาใช้อย่างถูกต้อง  ปฏิบัติด้วยตนเองนี่เป็นพุทธศาสตร์   คนที่จะเป็นพุทธศาสตร์จะต้องอ่านหลักธรรม  ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนมากพอสมควร

 

        กรณีบางคนนับถือพระ  โดยการแขวนพระพุทธรูป จะมีทั้งพุทธศาสตร์และไสยสาสตร์    ถ้าแขวนเพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  เป็นเครื่องรางของขลัง  อยู่ยงคงกระพันชาตรี  ขับรถชนมาแล้วรอดปาฏิหาริย์เพราะแขวนพระไว้  จะเป็นทางไสยศาสตร์   แต่ถ้าแขวนพระเพราะเป็นเครื่องน้อมระลึกถึงพระพุทธ  เป็นเครื่องเตือนใจเมื่อเราโกรธ  อย่าโกรธนะเราแขวนพระอยู่  เราให้ความเคารพพระพุทธเจ้า  ปวารณาว่าพระพุทธองค์ปฏิบัติอย่างไร  ดูจริยาพระองค์เป็นเครื่องเตือนใจ  นึกถึงและพูดความจริงต่อหน้าพระพุทธเจ้า  เพื่อน้อมรำลึกปฏิบัติตาม  เตือนใจให้นึกถึงแต่ความดี  เวลาเราทำอะไรที่ไร้เหตุผล  เราควรนึกอยู่ตลอดเวลาว่า  พระพุทธเจ้าสอนให้เราเป็นคนมีเหตุมีผล  ให้เรารู้ที่มาที่ไป   จะนึกถึงสิ่งใดต้องลงมือปฏิบัติก่อน  ต้องรู้ได้ด้วยตนเอง  ถ้ามีพุทธานุสติแบบนี้เป็นพุทธศาสตร์   อีกกรณีบางคนนับถือพระภูมิเจ้าที่    การจุดธูปกราบไหว้ขอสิ่งต่าง ๆ จะเป็นไสยศาสตร์  แต่การกราบไหว้พระภูมิ  เพราะการยอมรับนับถือว่าเป็นเทวดา  เราจึงใคร่ครวญว่าเราละอายต่อบาป  คงไว้ในความดีของเทวดา  เป็นเหตุเป็นผล  ด้วยพุทธธรรมเสมอกันเป็นพุทธศาสตร์

 

        ไสยศาสตร์ ไม่ว่าเราจะแขวนพระ  หรือทำอะไรก็ตามอยู่ในใจ  เป็นเรื่องเฉพาะตัว   ว่าจะเป็นไสยศาสตร์หรือพุทธศาสตร์    หรือบางคนอ่านแล้วก้ำกึ่ง  ช่วงไหนฟังธรรมบ่อย ๆ เกิดพุทธานุสติ  รู้สึกว่าชีวิตต้องค่อย ๆ ประคับประคองจิตใจ  อย่าไปโมโห  อย่าไปโกรธ  ขณะเดียวกันไปพบปะเพื่อนฝูงบอกองค์นี้แขวนแล้วดี  จะมีอารมณ์สองอย่างอยู่ในตัวคนเดียวกัน  เป็นธรรมดาที่มีอยู่ในโลก  ซึ่งทุกคนต้องมีอยู่ในตัว  เช่นในเวลาคับขัน  บอกให้คุณพระคุณเจ้าช่วย  เป็นไสยศาสตร์ที่มีอยู่ในจิตใจคน   เพราะไสยศาสตร์สอดคล้องกับสัญชาติญาณความเป็นธรรมชาติของมนุษย์เรา   และสัญชาติญาณของคนเราในส่วนลึกจะหวังพึ่งคนอื่นอยู่ตลอดเวลา  จิตใจจะไปพึ่งพิงสิ่งที่หนักแน่น

 

        สัญชาติญาณของมนุษย์เป็นธรรมชาติที่ฝืนไม่ได้  ขณะที่เราเกิดมา จะพึ่ง พ่อ แม่ พี่เลี้ยง  คนข้างเคียง  ดูแบบอย่างและตามแบบคนอื่น  ยังไม่เป็นตัวของตัวเอง  ส่วนการหวังพึ่งและพักพิงสิ่งที่ดีกว่าไสยศาสตร์จะได้เปรียบ   ใครก็ตามที่แสดงอำนาจที่เหนือมนุษย์  เราก็มีจิตที่หวังจะไปพึ่งพิง  สามารถบอกความมีโชค    หรืออะไรก็แล้วแต่จะกลายเป็นคนที่อ่อนแอไป  เพราะไปพึ่งพิงสิ่งที่เป็นไสยศาสตร์

 

        แม้แต่ตัวผู้เขียนเอง(อาจารย์แอน) เวลาบางท่านโทรมาถาม  จะมีทั้งไสยศาสตร์และพุทธศาสตร์  ถ้าเป็นลักษณะที่ว่า ข้าพเจ้าสามารถบันดาลได้ทุกสิ่งทุกอย่าง  เงินทองไม่พอใช้  จะจัดทำเลอย่างไรดี  ให้มีเงินทองเหลือใช้  จะเป็นไปในทางไสยศาสตร์   แต่ถ้าเป็นลักษณะว่า  อาจารย์มีแนวทางอย่างไร  ช่วยชี้นำให้ปฏิบัติ  ข้าพเจ้าจะใช้โหราศาสตร์เป็นเครื่องประกอบในการอ่านคน ๆ นี้ก่อน    จะดูลักษณะทางเชิงจิตวิทยาว่า    คนจัดบ้านแบบนี้จะต้องมีลักษณะนิสัยใจคอแบบนี้  นำไปสู่ปัญหาแบบนี้  เป็นสิ่งที่เดินไปด้วยกัน   ไม่ใช่ตัวข้าพเจ้าเป็นหลัก  แล้วข้าพเจ้าจะมีแนวทางให้  จะเป็นในทางพุทธศาสตร์    ฉะนั้นไสยศาสตร์กับพุทธศาสตร์  จะอยู่ข้าง ๆ อยู่กับความคิด  ตามสัญชาติญาณ  คนเราเมื่อเห็นใครเหนือกว่าแล้วไปพึ่งเขา  เห็นเขาเป็นคนสำคัญ จะเป็นไสยศาสตร์  แต่ถ้าคนนั้นพยายามชี้แนะแนวทางให้คนเราไปสู่เหตุผล  ใช้วุฒิปัญญาต้องแยกแยะให้เป็นด้วยปัญญาของเราเอง  จะเป็นพุทธศาสตร์  นี่คือความแตกต่างระหว่างพุทธศาสตร์กับไสยศาสตร์