ดวงประเทียบ

 

นางอมิดตา - ชูชก (ดวงประเทียบ)
31 ม.ค. 2554

 

ชูชก – อมิตดา
 

            ก่อนจะไปถึงเรื่องราวของชูชกและนางอมิตดา คงจะต้องเท้าความถึงเรื่องราวความเป็นมาเสียก่อน  การวิเคราะห์ดวงจากวรรณคดีในตอนนี้  จะได้เพิ่มรสชาติและสีสรรเช่นเคย

ดวงประเทียบ, โหราศาสตร์ไทย, อมิตดา, ชูชก, เวสสันดรชาดก, เทศน์มหาชาติ

 



คงจะรู้เรื่องราวของประเพณีงานเทศน์มหาชาติอยู่แล้วว่า  นิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินไปแล้ว  อาจทำกันในวันขึ้น ๘ ค่ำ กลางเดือน ๑๒ หรือในวันแรม ๘  ค่ำ ก็ได้  ซึ่งในช่วงนี้น้ำจะเริ่มลด  และข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์  ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานร่าเริง  แต่ภาคอีสานบ้านเฮาจะนิยมจัดขึ้นในเดือน ๔ เรียกว่า  งานบุญพระเวส  ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญเอาข้าวเข้ายุ้ง  ในภาคกลางบางแห่งก็นิยมทำกันในเดือน ๕  หรือเดือน ๖ การเทศน์มหาชาติมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์  เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดร  อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์  ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ  และออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



 

พระชาติสุดท้ายนี้  พระองค์ได้บังเกิดเป็นพระเวสสันดรผู้ใจดี  บริจาคทุกอย่างที่มีคนมาขอ  และครั้งหนึ่งได้ประทานช้างเผือกคู่บ้านคู่เมืองแก่พราหมณ์ชาวกลิงคราษฎร์  ซึ่งมาขอช้างมงคลไปไว้ในบ้านเมืองของตน  เพื่อทำให้ฝนหายแล้งและทรงให้ไปด้วยพระเมตตา อันเป็นเหตุให้ชาวเมืองพากันโกรธเคือง และขอให้พระเจ้าสัญชัยพระราชบิดาผู้ครองเมืองเชตุตรราชธานี แห่งแคว้นสีพี  เนรเทศพระเวสสันดรออกไปเสียจากพระนคร  ซึ่งพระนางมัทรีพร้อมด้วยโอรสได้ตามเสด็จพระเวสสันดรไปอยู่ป่าด้วย

 



ต่อมาชูชกได้มาขอกัณหา-ชาลี  พระราชกุมารและพระราชกุมารี  พระเวสสันดรก็ประทานให้  และต่อมาพระเจ้าสัญชัยได้ไถ่ตัวไว้  เมื่อชูชกพาเดินหลงเข้าไปถึงกรุงเชตุตรราชธานี  และให้รางวัลชูชกกินอาหารจนท้องแตกตาย  ภายหลังพระเจ้าสัญชัยจึงเสด็จไปรับพระเวสสันดรกลับมาครองเมือง

 



คือเรื่องย่อ ๆ ของพระเวสสันดรชาดก  ซึ่งพวกเราพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะทราบเนื้อความดีอยู่แล้ว

 


เรื่องในเทศมหาชาติแบ่งเป็น  ๑๓  กัณฑ์  ดังต่อไปนี้


 

คาถาพัน
1 กัณ์ทศพร 19 คาถา
2 กัณฑ์หิมพานต์ 134 คาถา
3 ทานกัณฑ์ 209 คาถา
4 กัณฑ์วนปเวศน์                                       57 คาถา
5 กัณฑ์ชูชก 79 คาถา
6 กัณฑ์จุลพน 35 คาถา
7 กัณฑ์มหาพน 80 คาถา
8 กัณฑ์กุมาร 101 คาถา
9 กัณฑ์มัทรี 90 คาถา
10 กัณฑ์สักกบรรพ 43 คาถา
11 กัณฑ์มหาราช 69 คาถา
12 กัณฑ์ฉกษัตริย์  36 คาถา
13 นครกัณฑ์ 48 คาถา


รวมมี  ๑,๐๐๐ คาถา  เรียกว่า ” คาถาพัน ”
 

การเทศน์มหาชาตินอกจากมี ๑๓  กัณฑ์นี้  แล้วยังมีแถมอีกหนึ่งกัณฑ์  เป็นการเทศเรื่องพระอริยสัจ ๔ ประการ  ดังนั้นจึงแบ่งเทศน์ออกเป็น  ๓  วัน  คือเทศน์คาถาพันล้วน ๆ เสียหนึ่งวัน  วันที่สองเทศน์เดินเรื่องทั้ง  ๑๓ กัณฑ์  และวันที่สามจึงจะเทศพระอริยสัจ  ๔  และบอกอานิสงส์ เพราะฉะนั้นการฟังเทศน์มหาชาติจนครบ ๓ วัน จึงมีอานิสงส์ใหญ่  เพราะงานประเพณีนี้ได้ถือแบบอย่างพระพุทธองค์  เมื่อทรงตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว  ก็กลับมาเทศนาโปรดพระพุทธบิดาและพระญาติที่กรุงกบิลพัสดิ์  จึงได้จัดเป็นประเพณีสืบต่อกันมา

 



ส่วนอานิสงส์ของการฟังเทศน์มหาชาติ  ในพระมาลัยสูตรกล่าวไว้ว่า  ถ้าใครได้ฟังคาถาพันและทั้งเนื้อเรื่องของเวสสันดรชาดก  และบูชาด้วยดอกไม้และธูปเทียนและธง  อย่างละพันให้ตลอดรวดเดียวในหนึ่งวัน  ถือว่าได้กุศลแรง  ตายไปชาติหน้าจะได้พบพระศรีอาริยเมตไตร  ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล  อ่านมาถึงตรงนี้  มีความรู้สึกเหมือนได้ฟังเทศน์  คาถาพัน  ครบถ้วนไหมคะ  อย่างน้อยก็พอจะทราบถึงที่มาที่ไป

 



ดวงประทีปของชูชกและนางอมิตดาต่อไปนี้  นำมาจากตำราโหราศาสตร์ของหลวงวิศาล  ดรุณกร   อันเป็นความชัดเจนของครูบาอาจารย์ที่ผูกไว้กับศิษย์ทั้งหลายได้ศึกษากัน
 


ดวงชาตาของนางอมิตดา
 



ดวงประเทียบ, โหราศาสตร์ไทย, อมิตดา, ชูชก, เวสสันดรชาดก, เทศน์มหาชาติ



 

โหราจารย์ท่านให้วันไว้มาว่า  เกิดวันอาทิตย์  เดือน  ๑๒  อ่อนกว่าชูชกถึง  ๔๑  ปี  เพราะตอนอายุ  ๑๖  ปี ก็กินตำแหน่งเมียชูชกแล้ว  ลัคนาสถิตราศี  พฤษภ  เป็นราศีที่ต้องรับผิดชอบ หรือที่เรียกว่าราศีใช้งานหรือได้งาน  จากบ้านไม่มีบริวารใช้สอยหรือล้อมหน้าล้อมหลัง เพราะลัคนาโดดต้องพึ่งพาอาศัยตนเอง  บุคคลที่มีลัคนาโดด  มักเป็นคนที่มีความสามารถช่วยเหลือตนเอง  พึ่งพาอาศัยตนเองได้และรู้คิดเป็นผู้ใหญ่เกินอายุ
 


ดาว ๓๗  ที่อยู่ในภพสหัชชะ  หมายถึงการกำพร้าพี่น้องและญาติ  รวมทั้งการมีเพื่อนบ้านที่มักเป็นศัตรู  ชาตาใดมีดาวบาปเคราะห์  โดยเฉพาะ  ๓  หรือ ๗ มักถูกอิจฉาริษยา  และถูกเกลียดชังจากมิตรหรือเพื่อนบ้าน   
 


ภพปัตนิ  จะหมายถึงคู่ครอง  หรือคนที่เราสมาคมอยู่จะมีดาวบาปเคราะห์เป็นตัวสำคัญ  คือดาว ๘  แสดงถึงการขาดสมาคมกับบุคคลทั่วไป  มีเพื่อนน้อยและได้คู่ครองที่มีอายุ  หรือเป็นพ่อหม้าย  ซ้ำยังมีลักษณะผิดแผกแตกต่างจากบุคคลทั่วไป  เช่น หัวล้าน  พุงใหญ่  ตัวเตี้ย ขาลีบ  เป๋เล็กน้อย  ซึ่งชูชกมีอยู่ครบถ้วน  ดาว ๘  กุมดาว ๑ อันหมายถึงผู้ชายในชาตาได้แก่ พ่อ หรือพี่ น้องชาย  รวมถึงสามี  แสดงถึงการพลัดพรากจากพ่อพี่น้องและสามี    เจ้าเรือนปัตนิคือ  ดาว ๓ เป็นนิจ  ยังถูกกุมด้วยดาว ๗  ซึ่งเป็นประ  สามีอายุไม่ยืนนาน  และสามีคือดาว ๓  เป็นนิจกุมประ ได้คู่ครองไม่สมตัว  ดาว ๒  อันหมายถึงเจ้าชาตาด้วย  กุม ๖  สวยงามรูปร่างอวบเนื้อแน่น  กุม ๕  แต่งงานอายุน้อย  ๕  มาจากภพมรณะ  ได้รับมรดกรับช่วงจากสามี
 


๒๖๕  ภพอริหมายถึง  การที่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำงานดุจคนใช้ด้วยตนเอง  เกิดวันอาทิตย์  ดาว ๑ ถูกดาว ๘  เบียน  ไม่มีบริวาร  เป็นอันว่านอกจากจะเสียสามีแล้วยังพลอยเสียบริวารด้วย ดาว ๘  เป็นมนตรีตามทักษากำเนิดบอกว่า  คู่ครองจะมีโชคลาภจากผู้มีอำนาจวาสนา   เป็นอันว่า  ดวงประเทียบของนางอมิตดาที่ครูบาอาจารย์ผูกไว้  บอกถึงความเป็นไปตามท้องเรื่องอย่างชัดเจน
 


ดวงชาตาของชูชก

 

ดวงประเทียบ, โหราศาสตร์ไทย, อมิตดา, ชูชก, เวสสันดรชาดก, เทศน์มหาชาติ
  

 

 

ดวงชาตาของชูชก  มีลัคนาอยู่ที่ราศีตุลย์เป็นราศีแห่งชมพูทวีป ลำบากแต่เกิด  แถมมีดาว ๖ ตนุลัคน์เป็นประจำซึ่งเข้าใจว่า  น่าจะอยู่ในทลิทโทฤกษ์ด้วย  ดาว ๖  ถูกเบียนด้วย ๗๘  ซึ่งกุมลัคนาอยู่  ทำให้ชีวิตต้องลำบากตกต่ำถึงกับต้องขอทานเลี้ยงชีพ  ดาว ๘  ที่กุมลัคนา  มักแสดงถึงโมหะจริตด้วย  มักลุ่มหลงและทำอะไรก็มักขาดกาลเทศะ  ดาว ๑  เป็นอุจเล็งลัคน์  กุมตนุลัคน์   แสดงถึงความร้อนรนที่อยู่ไม่เป็นสุขด้วย  รวมถึงความทะยานอยากมักใหญ่ใฝ่สูง
 


ดาว ๑ เล็ง ๗๘  แสดงถึงความตระหนี่ การเก็บเงินทำให้ชูชกร่ำรวยแบบจน ๆ (เอ๊ะยังไง)  คือมีเงินเก็บแต่ทำตัวยากจน ไม่ยอมใช้เงินออกดอกเงินกู้  ความที่ดาวเรือนทรัพย์ ดาว ๓  ไปเป็นนิจจึงถูกโกง  หรือทรัพย์สินเสียหายไป  จึงได้นางอมิตดามาแทนคือ ๓  เรือนทรัพย์  ที่ไปอยู่ราศีกรกฏ  ดาว ๒ เป็นเจ้าเรือน  หมายถึงผู้หญิงในชาตามาอยู่ในภพ ปุตตะ  คือคู่ครองมีอายุคราวลูก  นอกจากนี้ดาว ๓ ยังเป็นเกษตรจากภพปัตนิอีกด้วย  เงินกับคู่ครองคือตัวเดียวกัน  ถ้าหากนับตามเกษตรเก่า มีข้อน่าคิดอยู่ว่า  ผู้ที่มีลัคนาอยู่ราศีตุลย์  คู่ครองกับทรัพย์คือดาวดวงเดียวกัน  เพราะฉะนั้นคนราศีตุลย์  ถ้ามีชีวิตครอบครัวดีคือการเงินก็จะดีตามไปด้วย

 



๑๔๖  ที่อยู่ในภพปัตนิ  เป็นดาวศุภเคราะห์  คู่ครองสวยงามแถมมีดาว ๒ ดาว ๕ ตรีโกณถึงอีก  ดาว ๓ เป็นนิจ มักขาดความเมตตา  มาจากเรือนทรัพย์  เป็นการหาทรัพย์โดยยาก  เหน็ดเหนื่อยถึงกับต้องขอทานเขากิน  ดาว ๗๘ ที่กุมลัคน์  เป็นดาวที่แสดงถึงความจู้จี้ขี้โมโห  มุทะลุและดื้อเป็นที่สุด  ใครมีดาวนี้อยู่ในดวงพึงรู้ไว้ว่า ดื้อสุด ๆ  แถมดาว ๗ เป็นอุจจ์  แสดงถึงความมุ่งมั่นเอาชนะอุปสรรค  ดาว ๕ เป็นเกษตรโยคหน้า คือความอุดมสมบูรณ์  ทำให้มีเงินเก็บ  และได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน  อันนี้เป็นอิทธิพลของดาว ๑ เล็คดาว ๕ โยค  และดาวสองดวงนี้เป็นดาวที่มีกำลัง  แต่ดาว ๑ อยู่ในตำแหน่งเบียนลัคนา (คือ ๑ ๔ ๗ ๑๐ )ทำให้มีโทษด้วย
 


๑ มหาอุจ กุมตนุลัคน์  และเป็นดาว ๖ ทำให้ชอบของยอด ๆ เช่น เมียสวยสุด  เด็กสุด  และกินอาหารเลิศสุด ดาว  ๖ ตนุลัคน์เป็นประ  ถูก ๗๘ เล็ง ดาว ๓  เป็นนิจเบียน (ดาว ๓ เป็นดาวมรณะของโลก  เป็นดาวอุบัติเหตุ)  และอยู่กลางฟ้า การเบียนลักษณะมุมฉากเป็นการเบียนอย่างเต็มที่  จึงถึงแก่ความตายโดยเฉียบพลัน  โดยปรกติชาตาที่มีดาว ๗๘ และ ๓ ถึงหรือเบียนลัคนา  ก็ให้โทษอยู่แล้วจะหนักเบา  ขึ้นอยู่กับมุมเบียน  นั้นว่ารุนแรงขนาดไหน