ดวงประเทียบ

 

อองมั่ง ราชันย์สมัยฮั่น (ดวงประเทียบ)
1 ก.พ. 2554

 

อองมั่ง  ราชันย์สมัยฮั่น

 

            ขึ้นชื่อเรื่องทุกคนคงจะส่ายหน้า  ราชาองค์นี้มาจากวรรณคดีเรื่องใดไม่เคยได้ยิน    ความจริงต้องบอกว่ามาจากพงศาวดารจีน  ซึ่งเป็นเรื่องจริงมีตัวบุคคลจริง ๆ เช่นเดียวกับมังตราหรือจะเด็ด  หรือตัวละครหลาย ๆ คนที่เคยเอ่ยนามมา

 



เรื่องราวของอองมั่ง  มีความน่าสนใจเพราะตลอดระยะเวลากว่าสี่ร้อยปีของราชวงศ์ฮั่น  ได้แบ่งออกเป็นสองช่วง  คือช่วงแรกเรียกว่าสมัยฮั่นตะวันตก  คือช่วงระหว่าพ.ศ. ๕๓๗ - ๕๕๑  มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น  ๑๑ พระองค์  ตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองฉางอัน ระยะที่ ๒ เรียกว่า ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก คือช่วงพ.ศ. ๕๖๗  - ๗๖๓ มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น ๑๒  พระองค์  ตั้งราชธานีอยู่ที่ลั่วหยาง  และกษัตริย์องค์สุดท้ายคือ พระเจ้าเหี้ยนเต้  ในเรื่องสามก๊กนั่นเอง
 


ส่วนช่วง พ.ศ. ๕๕๑  - ๕๖๗   ที่ขาดหายไป  ก็คือช่วงที่อองมั่ง  ยึดอำนาจจากราชวงศ์ฮั่น และสถาปนาราชวงศ์ซินปกครองจีนอยู่  ๑๖  ปี  แต่หลังจากนั้นราชวงศ์ฮั่นก็สามารถยึดอำนาจกลับคืนมาได้  การที่จู่ ๆ ก็มีราชวงศ์หนึ่งที่มีฮ่องเต้เพียงองค์เดียวครองราชย์ราชถึง  ๑๖  ปี  ได้นั้น ก็มีข้อน่าสนใจอยู่  ๒  ประการ

 

            ประการแรก   คือ มาได้อย่างไร

 

            ประการที่สอง   คือ  ไปได้อย่างไร

 


อองมั่งเกิดเมื่อ ๔๕  ปี  ก่อนคริสตศักราช  ในสมัยพระจักรพรรดิ  ฮั่นหวูตี้  และตายเมื่อพ.ศ. ๕๖๖  เขาเกิดมาในตระกูลขุนนาง ญาติของเขานับได้สามชั่วคนล้วนแล้วแต่เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนัก และมีป้านามว่า  “อองเจิ้นจิน”  เป็นถึงมเหสีของจักรพรรดิฮั่วหวูตี้  แต่ครอบครัวของอองมั่งเองกลับยากจน  เพราะบิดามีอายุสั้น

 

และนี่คือ  ดวงประเทียบของ  อองมั่ง

 

 ดวงประเทียบ, โหราศาสตร์ไทย, ราชวงศ์ฮั่น, ราชวงศ์ซิน, ฮั่นตะวันตก

 

โปรดสังเกตดวงประเทียบ  บุคคลที่มีชาติกำเนิดสูงส่ง  และตามประวัติได้เป็นถึงจักรพรรดิ  จะต้องมีดวงชาตาที่ค่อนข้างแรง  อย่างน้อยต้องมีอุดมเกณฑ์และในจำนวนเกณฑ์ทั้งหมดปัศวะเกณฑ์เป็นเกณฑ์ที่ส่งผลในการเป็นผู้นำคนมากที่สุด

 

ประวัติของอองมั่ง  แสดงถึงความเฉลียวฉลาดทันคน  ลึกซึ้งเจ้าแผนการสามารถกุมชาตาของบุคคลต่างๆ ได้ในภายภาคหน้า  จึงจัดลัคนาอยู่ที่ราศีเมษ

 

ปัศวะเกณฑ์  คือการที่มีดวงดาวอยู่ในภพที่ ๑๐  ข้าพเจ้าจึงจัดชุมนุมดาว  ถึง  ๕  ดวง  ในราศีมังกร  รวมทั้งดาว  ๑ และดาว ๗ คู่อสีตีธาตุด้วย เพราะดาวคู่ธาตุไฟ ในราศีธาตุดิน มีจุดด้อยคือทำให้กำพร้าบิดา และในที่สุดก็ไร้ผู้สืบทอด  เพราะดาว ๑  มาจากภพปุตตะ  อย่างไรก็สู้กำลังดาว ๗ ไม่ได้  เพราะ ๗  เป็นเกษตร  และอยู่ในภพกัมมะ ซึ่งเป็นภพแห่งกรรมด้วย

 

ตามประวัติ  อองมั่ง เป็นคนทะเยอทะยาน  เนื่องจากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ล้วนแล้วแต่มีเกียรติยศชื่อเสียงทั้งสิ้น  และมีความตั้งใจมาแต่เยาว์วัยว่าตนนั้นต้องมีวาสนาสูงสุดในแผ่นดิน  อองมั่งสนใจที่จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์คัมภีร์จริยธรรมต่าง ๆ และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองว่า  การจะให้เป็นที่รักแก่บุคคลทั้งหลาย  หรือให้คนทั้งหลายเมตตาเอ็นดู  หรือสนับสนุนตนต้องเป็นคนมีจริยธรรม  มีคุณธรรม

 

อองมั่งมีดาว ๙ อยู่ภพวินาศ  แสดงถึงความลำบากอดทนต่อสู้ของตนเองมาแต่กำเนิด   ดาว ๙ มีความหมายในเรื่องของการวางแผน  หรือจินตนาการที่สลับซับซ้อน    มองการณ์ไกลกว่าที่คนอื่นจะเข้าใจ 

 

มีดาว ๕  เล็ง  ตามหลักของตันตริก  คือการทายดาวที่อยู่ตรงกันข้าม  หมายความว่าดาว ๕ ที่เล็งลัคน์อยู่ส่งกระแส  ดาว ๙  มากุมลัคน์นั่นเอง  ดังนั้นอิทธิพลของดาว ๙  จึงมีต่ออองมั่งมากกว่าที่เราคิด

 

อองมั่งทำตนเป็นคนสมถะ มักน้อยสันโดษ มีชีวิตที่เรียบง่ายไม่ยกตนข่มท่าน ปรนนิบัติมารดา พี่สะใภ้ที่เป็นม่ายเป็นอย่างดี จนชาวบ้านสรรเสริญว่าเป็นบุคคลที่มีความกตัญญู  มีความอ่อนน้อมน้อมถ่อมตน  เชื่อฟังเคารพต่อผู้เป็นลุง เป็นอา  ซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่อยู่ในวัง  มีมารยาทต่อผู้น้อยผู้ต่ำต้อยกว่าตน  และยังคบหากัลยาณมิตรผู้มีชื่อเสียงทางด้านจริยธรรม  หรือบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน

 

นี่เป็นอิทธิพลของดาว  ๒ ที่มีตำแหน่งเป็นอุจและยังเป็นดาวศูนย์พาหะ  แสดงบุคลิกภายนอกของเจ้าชาตา   ความดีของอองมั่ง ส่งผลให้ได้รับการสนับสนุนเข้ารับราชการ  ตำแหน่งนายทหาร  องครักษ์ได้ทั้งบรรดาศักดิ์มีตำแหน่งราชการ  และได้ไต่เต้าขึ้นไปตามลำดับ

 

เล่ากันว่าอองมั่ง ลงโทษลูกชายโดยสั่งให้ฆ่าตัวตาย  ชดใช้ชีวิตของข้าทาสที่ลูกชายทำให้ตายโดยความประมาท  แสดงถึงความยุติธรรมรักความถูกต้องยิ่งกว่าชีวิตลูก  นี่ก็เป็นอิทธิพลของดาว  ๑ จากภพปุตตะที่ถูกข่มด้วยดาว ๗

 

ความดีของอองมั่ง  เพียรสร้างส่งผลให้รับตำแหน่งยศศักดิ์เลื่อนสูงขึ้นเรื่อย ๆ  จนในที่สุดได้รับบรรดาศักดิ์สูงสุดคือ “อันฮั่นกง” ซึ่งเทียบเท่ากับสมเด็จเจ้าพระยา และมีตำแหน่งในราชการเป็นถึงสมุหนายกควบตำแหน่งสมุหกลาโหม  กุมอำนาจทั้งการเมืองและการทหาร  

 

นี่แหละข้าพเจ้าใส่ดวงดาวชุมนุมอยู่ที่ราศีมังกร ไม่ใช่เพราะขี้เกียจกระจายดาวออกไปตามราศีต่าง ๆ นะคะ ตามประวัติศาสตร์  อองมั่งมีการวางแผนอย่างแยบยลในการกำจัดผู้ที่ขัดขวางทาง เสมือนหนังจีนโดยทั่วไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่แสดงถึงความแยบยลของอองมั่ง  คือพระเจ้าฮั่นผิงตี้  ครองราชย์เมื่อพระชนม์มายุ  ๙  พรรษา  อองมั่งก็พยายามกีดกันไม่ให้พระราชชนนีมาดูแลใกล้ชิด    ด้วยเกรงอิทธิพลของพระราชชนนีมาข่มตนเอง  สร้างความไม่พอใจให้พระเจ้าฮั่นผิงตี้  เพราะทรงทราบว่าทรงเป็นจักรพรรดิแต่เพียงในนาม

 

อองมั่งก็ทราบดีว่าตนเป็นที่หวาดระแวงขององค์จักรพรรดิมาตลอด  ในที่สุดก็วางยาพิษจนพระเจ้าฮั่นผิงตี้สิ้นพระชนม์  ภายหลังจักรพรรดิฮั่นผิงตี้สิ้นพระชนม์ ปรากฏการณ์ก็ได้เกิดนิมิตขึ้นในแผ่นดิน เช่นมีการขุดพบแผ่นหินขาวสลักตัวหนังสือว่า  “สวรรค์ส่งอองมั่งมาเป็นจักรพรรดิ”   มีการพบหีบทองเหลืองในศาลเจ้าฮั่นโกโจ   ภายในหีบมีหนังสือจารึกว่า  “ฮั่นโกโจปฐมบรมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น  สละบัลลังก์แก่อองมั่ง”

 

นี่เป็นอิทธิพลของดาว ๓  จากภพมรณะมาอยู่ในภพอริมีตำแหน่งเป็นมหาจักร   มีความหมายของการวางแผนร้ายและการสนับสนุน ภพกัมมะเป็นภพองค์เกณฑ์ในลักษณะที่ดาว ๓ ตรีโกณถึง คือสนับสนุนภพกัมมะนั่นเอง อองมั่งครองราชย์ได้  ๑๖ ปี  หลิวซิ่วผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ฮั่นก็เข้ายึดอำนาจคืนได้สำเร็จ  จึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองลั่วหยาง  เป็นการเริ่มยุคฮั่นตะวันออก

 

ดวงประทีปของอองมั่งที่เขียนไว้  ไม่มีดาวโยคและตรีโกณ  เหมือนดวงที่ปราศจากการสนับสนุนหรือแผ่กิ่งก้านสาขาหรือหยั่งราก เป็นดวงที่มีลัคนาเกือบโดด มีเพียงดาวขนาบหน้าหลังแสดงถึงการมีผู้ช่วยเหลือโอบอุ้มระยะหนึ่งเท่านั้นขาดดาวรับช่วงต่อ  มีเพียงดาวที่เป็นปัศวะเกณฑ์กลุ่มใหญ่  ที่แสดงอำนาจอันสูงสุดเท่านั้น

 

ดาว ๕  เล็ง ๐ แสดงถึงอัจฉริยภาพทางปัญญา  และการวางแผนของอองมั่ง  แต่วงจรชีวิตที่กำพร้าบิดาและการสูญเสียบุตรชาย แสดงถึงความบกพร่องของดาว ๑ ที่มีความหมายเป็นหลักของชีวิต  อองมั่งไร้ผู้มีความสามารถที่จะสืบทอดบัลลังก์ต่อไปได้  ด้วยเหตุนี้  อองมั่งจึงก่อตั้งราชวงศ์ซินขึ้นมาได้เพียง  ๑๖  ปีเท่าอายุการครองราชย์ของตนเอง

 

  

 

 

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
  • ขุนแผน
  • ตะละแม่จันทรา (ดวงประเทียบ)
  • เม้ยมะนิก (ดวงประเทียบ)
  • ไซซี (ดวงประเทียบ)
  • แก้วหน้าม้า (ดวงประเทียบ)
  • อิทธิพลดาวกุมลัคน์ (ดาวพลูโต)
  • อิทธิพลดาวกุมลัคน์ (ดาวเนปจูน)
  • อิทธิพลดาวกุมลัคน์ (ดาวเสาร์)
  • สาระจากเมืองมังกร ตอนที่ 69 บทสวดแรกเกิดขึ้นในสมัยใด โดย อาจารย์แอน
  • สาระจากเมืองมังกร ตอนที่ 57 เรื่องราวของหวังเจาจวิน โดย อาจารย์แอน