บทความพิเศษ

 

พิชัยสงครามกับสามก๊ก ตอนที่ ๔/๒ - เตียวเสี้ยน
21 พ.ย. 2558

 

หลังจากนั้น ก็มาถึงเหตุการณ์ที่กล่าวถึงในตอนที่ ตั๋งโต๊ะย้ายเมืองหลวง ประกอบกับ ๑๖ หัวเมืองแตกความสามัคคีกันเอง เรียกว่า แพ้บารมีตั๋งโต๊ะ ที่เล่าเรื่องลิโป้ย้อนหลังโดยละเอียดก็เพื่อให้เห็นความสามารถของลิโป้ชัด ๆ

 

ครั้งนั้น เท่ากับตั๋งโต๊ะยึดอำนาจการปกครองไว้แต่เพียงผู้เดียว และยี่สิบวันบ้าง เดือนหนึ่งบ้าง ก็ขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ครั้งหนึ่ง เวลาไปไหนมาไหน มีขุนนางน้อยใหญ่คอยเฝ้าแหนมากมาย

 

อยู่มาวันหนึ่ง  ตั๋งโต๊ะ ต้องการแสดงอำนาจ จึงจัดงานเลี้ยงขึ้น ตามภาษาชาวเนปจูน ที่ชอบงานเลี้ยงและสมาคม ถ้าเป็นเรา คงเข็ดงานเลี้ยงของตั๋งโต๊ะ เพราะจัดทีไร มีประกาศแปลก ๆ ทุกที แต่ขุนนางทั้งหลายไม่เข็ด และวันนี้เป็นวันชาตาขาดของขุนนางคนหนึ่งมีชื่อว่า เตียวอุ๋น เพราะขณะกินโต๊ะอยู่  ตั๋งโต๊ะ นั่งเสพสุราอยู่ ลิโป้ก็เข้าไปกระซิบข้างหูตั๋งโต๊ะ ตามที่ตั๋งโต๊ะสั่งไว้ ตั๋งโต๊ะก็ทำทีฟัง แล้วแสร้งทำเป็นหัวเราะแล้วว่า “คิดอย่างดอกหรือ เร่งเอาตัวมันไป”
ลิโป้ก็เข้าจับตัวเตียวอุ๋นลากออกไป ขุนนางทั้งหลายไม่รู้เรื่องรู้ราว ประเดี๋ยวเดียว ลิโป้ ก็เอาหัวของเตียวอุ๋นเข้ามา ขุนนางทั้งหลายพากันตกใจ (เป็นเราก็ตกใจ)

 

ตั๋งโต๊ะ เห็นดังนั้นก็หัวเราะ แล้วจึงว่า “ท่านทั้งปวงอย่าตกใจ ซึ่งเกิดเหตุทั้งนี้เพราะเตียวอุ๋นให้หนังสือลับ ไปถึงอ้วนสุดให้มาทำร้ายเรา มีผู้รู้จึงบอกหนังสือมา ลิโป้จึงมากระซิบบอกเรา เราจึงให้จับไปฆ่าเสีย ท่านทั้งปวงมิได้ร่วมคิดด้วย ก็อย่าได้เป็นทุกข์ จงกินโต๊ะพูดกันเล่นให้สบาย” นี่คืออุบายข่มขวัญขุนนางทั้งหลาย ไม่ให้เหิมเกริมคิดร้ายต่อตน เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู

 

มีขุนนางคนหนึ่ง รู้สึกเจ็บร้อนแทนแผ่นดิน ทั้งมีความคิดที่จะกำจัดตั๋งโต๊ะ คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก คืนหนึ่งออกไปชมสวน คิดเรื่องที่ตนอัดอั้นตันใจ ก็ได้แต่ทอดถอนใจอยู่ไปมา นางเตียวเสี้ยน ผู้เป็นลูกเลี้ยงเข้ามาพูดจาด้วย และรับอาสาที่จะทำตามแผนการของอ้องอุ้นทุกประการ ทั้งนี้เพื่อผลให้ ลิโป้ นายทหารยอดฝีมือ กับพ่อเลี้ยง ตั๋งโต๊ะ เกิดความกินแหนงแคลงใจกัน

 

 

สามก๊ก, ขงเบ้ง, เล่าปี่, กวนอู, เตียวหุย, โจโฉ, ซุนกวน, ลิโป้, เตียวเสี้ยน, ตั๋งโต๊ะ


 

เตียวเสี้ยน ผู้นี้เป็นหญิงงามที่สุด หนึ่งในสี่คนที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ของจีน

 

อ้องอุ้นรู้ดีว่า ลิโป้เป็นคนโลภ ดังนั้น วันหนึ่งจึงจัดเพชร พลอย กับทองคำ แล้วหาช่างมาทำหมวกสำหรับลูกหลวงใส่ แล้วแต่งให้คนสนิทให้ลอบเอาออกไปเป็นกำนัลแก่ลิโป้ ลิโป้เป็นคนรูปงาม แต่งกายมีรสนิยม เห็นหมวกลูกหลวงก็ยินดี รีบมาหาอ้องอุ้นที่บ้าน

 

มีโคลงโลกนิติ กล่าวไว้ว่า

 

“จักเข้าหาบ้ายศ ยอตาม
คนโลภกำนัลงาม ง่ายแท้
คนมักนักเลงกาม การเสน่ห์ ยอนา
เข้าสู่หมู่ปราชญ์ ชอบถ้อยทางธรรม”

 

โคลงที่ยกมานี้ อาจารย์ ดร.อัมพร สุขเกษม ท่านอธิบายไว้ในหนังสือ “กลอุบาย ทำลายล้าง อย่างสามก๊ก” ว่า “การยอคนมีลักษณะต่าง ๆ กัน ยออย่างไร จึงจะได้ผล คือใช้อุบายตามกิเลสของคน” ดังเช่นลิโป้ที่ “คนโลภกำนัลงาม ง่ายแท้”

 

อ้องอุ้น มีใจยินดีมาก ออกมารับลิโป้ถึงหน้าตึก แล้วเชิญให้เสพสุราอาหาร ทั้งกล่าวถ้อยคำสรรเสริญไพเราะเสนาะหู เอาใจลิโป้จนได้ที่แล้วก็ให้คนไปเชิญเตียวเสี้ยนออกมา

 


วีรบุรุษย่อมคู่กับหญิงงาม ลิโป้เห็นนางเตียวเสี้ยนรูปงาม ก็เกิดความพึงใจทันที ส่วนนางเตียวเสี้ยนก็มีอัน “รินสุราคำนับให้ลิโป้ทีไร ก็ชายหางตา ให้สบตาลิโป้ แล้วให้ที”

 


ฝ่ายลิโป้รับจอกสุราไป ก็ชำเลืองไปต้องตานางเตียวเสี้ยนทุกครั้ง มีใจประหวัดยินดีเป็นอันมาก อ้องอุ้นสังเกตอยู่แล้ว เมื่อเห็นลิโป้มีใจกับนางเตียวเสี้ยน ก็ดำเนินการขั้นต่อไป

 

สามก๊ก, ขงเบ้ง, เล่าปี่, กวนอู, เตียวหุย, โจโฉ, ซุนกวน, ลิโป้, เตียวเสี้ยน, ตั๋งโต๊ะ