เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ธรรมะจากอาจารย์แอน - พุทธคยา ตอนที่ ๑
27 ก.พ. 2559

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, อโศกมหาราช

 

ที่พุทธคยา ที่เราจะได้เห็นเป็นเด่นเป็นสง่า และเป็นสัญญลักษณ์ว่าเราได้มาถึงพุทธคยานี้แล้ว คือ มหาเจดีย์พุทธคยา ซึ่งตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้สร้างก่อนเป็นครั้งแรก แต่ที่เราเห็นนั้นมีผู้มาต่อเติมสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธา ทำให้ขนาดของมหาเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นเท่าที่เห็นในปัจจุบัน อานิสงค์ของการสร้างเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นด้วยแรงศรัทธา จะทำให้เป็นคนสูงใหญ่ ร่างกายสุขภาพแข็งแรง มีลาภผลไม่ขาด จึงเป็นคติว่า หากจะสร้างถาวรวัตถุ ทับที่เดิม หรือมีการรื้อของเดิมเพื่อสร้างใหม่ ต้องดีกว่าเดิม คตินั้นก็เลยเถิดไปถึงการตั้งศาลด้วย มิฉะนั้น จะเป็นคนร่างกายไม่แข็งแรงหากลดขนาดสิ่งศักดิ์สิทธ์ลง เพราะถือเป็นการปรามาส ลาภผลก็ไม่สมบูรณ์ หากเรารู้ตัวก็ไม่ต้องไปประกาศใคร เร่งทำบุญ ด้วยคติว่า "สร้างใหม่ต้องดีกว่าเดิม หรือ ทำใหม่ต้องใหญ่กว่าเดิม" ดังนี้

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, มหาโพธิวิหาร, พระถังซัมจั๋ง

 

วิหารหลังนี้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ์  ด้วยเหตุนี้ พระถังซัมจั๋ง ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ (แต่ไม่รวมเห้งเจีย ซึ่งไม่เห็นมีปรากฏในบันทึกของอินเดีย) จึงเรียกวิหารนี้ว่า "มหาโพธิวิหาร"

 

เราคงจำกันได้ถึงเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธองค์จากหนังสือ "ปฐมสมโพธิกถา" ที่เล่าว่า เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับที่ใต้ต้นโพธิ์ ผินพระพักตร์ไปด้านตะวันออก เพื่อกำหนดรู้ยามพระอาทิตย์ขึ้น ก่อนที่จะเริ่มบำเพ็ญเพียรจิต ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า

 

"หากยังมิได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด แม้โลหิตและมังสะจะเหือดแห้งไป เหลือแต่ หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที จะไม่เลิกละความเพียร โดยลุกไปจากที่นี้โดยเด็ดขาด"

 

เราลองคิดด้วยหัวใจของคนธรรมดาว่า จะต้องมีกำลังใจที่เข็มแข็ง แน่วแน่ขนาดไหนที่จะเปล่งวาจาอันเป็นสัจจะอย่างนี้ได้ พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียร เรื่องของกำลังใจ ความแน่วแน่ ความตั้งมั่น อย่างไม่คลอนแคลน เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเวลาเป็นแสนกัป ไม่ใช่ง่ายเลยในการบำเพ็ญเพียรเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า เพราะไม่อาจบรรลุธรรมขั้นสูงสู่นิพพาน เป็นมหาสัตว์อันประเสริฐ ที่เราเรียกว่า พระโพธิสัตว์ ที่ต้องทนทุกข์เวทนา ในการบำเพ็ญเพื่อเรียนรู้ทุกอย่างทุกอารมณ์อย่างรู้แจ้งเห็นจริง ไม่มีข้อสงสัย เพื่อนำมาสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้รู้แจ้งและพ้นทุกข์ที่แท้จริง ด้วยการเดินออกจากวัฏฏสงสารนี้เช่นพระองค์

 

เมื่อถึงเวลาที่พระพุทธองค์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาน จึงเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่พระชาติต่างๆที่ผ่านมาเป็นเวลายาวนานนั้นจะสิ้นสุดลง เราเรียนมหาวิทยาลัย ปริญญาโท ปริญญาเอก วันที่เราเรียนจบ เรายินดีกันขนาดไหน แต่น้อยยิ่งเท่าแสงหิ่งห้อยถ้าเทียบกับพระพุทธองค์ที่ทรงเจนจบไปจนหมดสิ้นสงสัยทั้งสิ้นทุกสิ่งอัน ที่เราเรียกว่า "วันตรัสรู้" ในวันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำเดือนหก และแน่นอนสถานที่ที่เราควรมาสักการะนบนอบ และน้อมระลึกถึงคุณของพระพุทธองค์ ก็คือที่ พุทธคยา ณ ต้นศรีมหาโพธิ์ แห่งนี้ 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ศรีมหาโพธฺ์

 

และสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงประทับในวันตรัสรู้ คือ ภายใต้โพธิวิหาร หรือ มหาเจดีย์พุทธคยา นั่นเอง

 

สถานที่ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ เป็นบริเวณกว้างใหญ่ ต้องใช้เวลาพอสมควรในการเดินให้ทั่วถึง เพราะหลังจากพิจารณาใคร่ครวญพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงทราบว่า มีความยากและลึกซึ้ง สุขุมลุ่มลึก ยากที่ชนทั้งหลายจะเข้าใจ พระทัยก็น้อมนำไปในทางที่จะไม่แสดงธรรมนั้นแก่ชนเหล่าอื่น

 

ท้าวสหัมบดีพรหมทรงทราบความดำรินั้น จึงมาทูลอาราธนา ขอให้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์โลกที่ควรโปรดให้รู้ธรรมได้ยังมี

 

พระพุทธองค์ทรงตรวจดูโลกด้วยจักษุ ทรงเห็นว่าหมู่สัตว์โลกมีอุปนิสัยที่แตกต่างกัน อุปมาเหมือนดอกบัวสี่เหล่า คือ บางเหล่าเกิดในน้ำ เป็นอาหารของเต่า ปู ปลา บางเหล่าเจริญแล้วแต่ก็ยังจมอยู่ในน้ำ บางเหล่างอกขึ้นเสมอน้ำ และบางเหล่าพ้นน้ำแล้ว เมื่อถูกแสงอาทิตย์ก็พร้อมที่จะบาน

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, บัวสี่เหล่า

 

เมื่อถึงตรงนี้ เราน่าจะได้คิดว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพุทธปัญญาในการแยกแยะกลุ่มคนทันที และสามารถกำหนดรู้ถึงวิถีทางที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในระยะเวลาที่สั้นที่สุดด้วย

 

ทรงมีเวลาเพียง ๔๕ พรรษา แต่พระองค์สามารถประกาศพระศาสนาได้เจ็ดแคว้น และอยู่ได้ยาวถึง ๕,๐๐๐ ปี ถ้าเราคนธรรมดาเปรียบเทียบเหมือนการวางรากฐานของชีวิต หรือองค์กร หรือบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

 

จะสังเกตได้ว่า ทรงแยกแยะ แยกย่อย แบ่งประเภท และเรียงลำดับการจัดการ คิดว่า ในพุทธวิธีอย่างนี้เราสามารถนำมาให้เกิดประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรมได้ไหม

 

ก่อนที่พระองค์จะใคร่ครวญพิจารณาและรับอาราธนา พระองคทรงใช้เวลาในการใคร่ครวญธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ก่อน เป็นเวลาเจ็ดสัปดาห์ รอบทั้งสี่ทิศ ดังนั้น ณ พุทธคยาแห่งนี้ จึงเป็นสถานที่ที่เราควรเดินให้รอบสี่ทิศเป็นการน้อมระลึกถึง ธรรมทั้งหมดที่พระองค์ทรงตรัสรู้ เปรียบเสมือนใบไม้ในป่าใหญ่ทั้งหมดแล้วทรงย่นย่อให้เหลือใบไม้เพียงกำมือเดียว คือพระธรรมที่นำมาสอนสรรพสัตว์ ให้เดินออกจากวัฏฏสงสารนี้ หมายความว่าพระธรรมคำสั่งสอนที่พระพุทธองค์ตรัสมาให้เราถือปฏิบัตินั้น มีไม่มากเลย ทรงเมตตาย่อให้เราแล้ว แต่สองพันห้าร้อยปีกึ่งพุทธกาลเข้านี่แล้ว เราได้อะไรและถึงไหน แถมมีวี่แววหรือเปล่า คงต้องถามสติปัญญาของเราแล้วว่า มัวคิดและทำอะไรอยู่ หรือเสียเวลา ทิ้งธรรม ไม่เคยกำหนดใคร่ครวญ พิจารณารู้เลย และทิ้งมานับรวมคงจะถึงสองพันกว่าปี เพิ่งปฎิบัติได้ปีเดียว คิดแล้วก็เศร้า จริงไหมคะ

 

ที่พุทธคยา มีสระพญานาคมุจรินทร์ ที่แผ่ปกป้องกันฝนปรอยที่ปรายลงมาต้องพระองค์

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ

 

อย่างน้อย เราควรเรียนรู้อย่างหนึ่งว่า ธรรมชาตินั้นมีอยู่ในโลกนี้ ฝนจะตก ฟ้าจะร้องห้ามไม่ได้ พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้วพิจารณาธรรม ฝนยังตก พญานาคต้องมาปรกให้ ดังนั้น เราคนธรรมดาทั่วไปก็อย่าพยายามเป็นผู้วิเศษฝืนธรรมชาติ เพราะอภินิหารที่ไม่เกิดประโยชน์ในทางธรรม พระพุทธองค์ทรงห้าม ถือว่า เป็นการอวดอุตริมนุษธรรมนั่นเอง

 

 

ที่พุทธคยายังมีสถานที่ที่ควรรู้อีกมากมาย ถือเป็นโชคอย่างยิ่งหากใครได้ไปนมัสการและได้ตามรอยสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าในครั้งนี้